ความเครียด ภัยสุขภาพ ร่างกาย

เมื่ออยู่ในสภาวะความเครียด จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย?

Home / สุขภาพทั่วไป / เมื่ออยู่ในสภาวะความเครียด จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย?

เมื่อเราเข้าสู่ภาวะความเครียด ร่างกายของเราก็จะเกิดความผิดปกติในการทำงาน ทำให้ร่างกายทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งอาจจะสังเกตให้เห็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย จนถึงอาการที่หนักหนา ยิ่งความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้นเรือยๆ ก็ยิ่งส่งผลต่อร่างกายมากขึ้นเท่านั้น โดยเมื่อร่างกายของเราต้องเผชิญหน้ากับความเครียดก็จะะส่งผลต่อร่างกายทำให้เราเป็นโรคต่างๆ ดังนี้

12 โรคที่เกิดจากอาการเครียด

1. โรคหัวใจขาดเลือด

ความเครียดมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลทำให้หัวใจขาดเลือดและเร่งให้เกิดการทำลายชั้นเซลล์ของผนังหลอดเลือดแดงเร็วมากยิ่งขึ้น

2. ความดันโลหิตสูง

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความวิตกกังวลอยู่เป็นประจำมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะความเครียดจากงานซึ่งมีผลมาจากทีทำงานหนักจนเกินไป จนทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจช่องซ้ายโตผิดปกติ

3. โรคเบาหวาน

ในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า ปัจจัยด้านจิตใจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล เพราะเมื่อเราเกิดความเครียดจะส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายได้

4. โรคหอบหืด

ความวิตกกังวลจะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการหอบหืดทรุดหนักไปอีก เนื่องจากผู้ป่วยมีประสบการณ์หายใจไม่ออกรุนแรงซ้ำๆ เมื่อเกิดความเครียดวิตกกังวลว่าจะหายใจไม่ออกจึงเป็นการกระตุ้นอาการโรคขึ้นมาอีก

5. ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

ความเครียดฉับพลันมีผลอย่างมากต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้วมีโอกาสหัวใจวายสูงกว่าคนอื่น

6. ข้ออักเสบรูมาทอยด์

พบว่าบุคลิกภาพของผู้ป่วยโรคนี้มีลักษณะที่สัมพันธ์กับความเครียดอยู่มากทีเดียว เช่น การเก็บกด ชอบความสมบูรณ์แบบ ชอบความโดดเดี่ยว ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ ชอบความเจ็บปวด และมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าความเครียดมีแนวโน้มกระตุ้นให้เกิดโรคได้

7. โรคผิวหนังอักเสบ

ความเครียดทำให้เราเหงื่อออกได้แม้จะอยู่ในอากาศที่เย็นก็ตาม นอกจากนี้ยังส่งผลให้แก้มของเราแดงระเรื่ออีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าคนที่หน้าแดงนั้นเป็นเพราะเขาเขินนะ แต่อาจจะเป็นเพราะเขากำลังเครียดอยู่ก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากระบบไหลเวียนของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เลือดถูกผลักดันไปที่กล้ามเนื้อมากจนเกินไป และถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็จะส่งผลทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำและแก่ก่อนวัยได้ นอกจากนี้ การศึกษาของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ยังพบอีกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลอาจนำมาสู่โรคผิวหนังอักเสบได้อีกด้วย

8. ภูมิแพ้

ความเครียดจะไปกดระบบภูมิคุ้มกันโดยผ่านฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ในขณะเดียวกันความเครียดยังไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ แต่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอาจจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

9. โรคมะเร็ง

จากการศึกษาหนึ่งพบว่า หนูที่มีสารก่อมะเร็งเมื่อถูกกดดันให้เครียด จะมีอัตราการลุกลามของมะเร็งเร็วกว่าหนูที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เครียด จึงอาจกล่าวได้ว่าความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญในการลุกลามของโรค นอกจากนี้นักวิจัยชาวอเมริกาจากศูนย์มะเร็งพิตเบิร์กพบว่า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความรัก ความดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าคนอื่นที่ไม่ได้มีอาการเครียด

10. ไมเกรน

ความเครียดส่งผลให้สารซีโรโทนินในสมองพร่องไป การขาดซีโรโทนินจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและหดตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้

11. อาการปวดกล้ามเนื้อและนอนไม่หลับ

เมื่อเราเริ่มรู้สึกวิตกกังวล กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเริ่มตึงเครียดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ไหล่แข็งและปวดคอ นอกจากนี้ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติอย่างเรื้อรังของกล้ามเนื้อได้ รวมไปถึงกระตุ้นวงจรการนอนหลับให้ผิดปกติอีกด้วย

12. โรคแผลในกระเพาะอาหาร

อาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย หรือภาวะเครียดลงกระเพาะ อาการเหล่านี้เป็นผลกระทบมาจากความเครียด ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบลำไส้ได้ ทำให้การดูดซึมและการย่อยอาหารไม่ดีเท่าที่ควร เป็นสาเหตุภาวะลำไส้แปรปรวน และสุดท้ายก็ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล

————————————

ที่มา : http://www.cheewajit.com/disease/13serious-555/