สาระความรู้เรื่อง แพ้เครื่องสำอาง !!

Home / สุขภาพทั่วไป / สาระความรู้เรื่อง แพ้เครื่องสำอาง !!

สาวๆ คงจะไม่ปฏิเสธว่าสมัยนี้เครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทมาก จะสวยเริ่ด เชิดเป๊ะ ก็ต้องแต่งเสริมเติมสวยกันหน่อย แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือการแพ้เครื่องสำอาง มารู้เกี่ยวกับการแพ้เครื่องสำอาง เพื่อจะได้ระมัดระวัง และเลือกใช้เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง

ทดสอบ ว่าแพ้เครื่องสำอางหรือไม่ !!

การแพ้เครื่องสำอางพบได้บ่อยในกรณีที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อใหม่มาใช้แล้วเกิดอาการที่คิดว่าแพ้เครื่องสำอางขึ้น ส่วนใหญ่ก็เพียงแค่เลิกใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนั้นไป โดยไม่ได้ไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองแพ้สารใดในเครื่องสำอางกันแน่ ราวครึ่งหนึ่งของการแพ้เครื่องสำอางเกิดขึ้นบนใบหน้ารวมทั้งบริเวณเปลือกตา และ 80% พบในเพศหญิง ซึ่งส่วนประกอบ 3 ตัวหลักในเครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ น้ำหอม สารกันบูด และน้ำยาย้อมผม

การทดสอบว่าแพ้เครื่องสำอาง..

การที่เราจะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องว่า ผื่นที่ผิวหนังนั้นเกิดจากการแพ้เครื่องสำอาง ก็โดยการทดสอบทางผิวหนังที่เรียกว่า Patch Test โดยการทำสารที่สงสัยมาแปะติดที่ผิวหนังแล้วตรวจดูในเวลาต่อมาว่ามีผื่นเกิดขึ้นหรือไม่ในบริเวณนั้น

ทาผิวหนังโดยตรง

การทดสอบ Patch Test นี้ทำได้หลายวิธี วิธีง่ายๆ คือ นำเครื่องสำอางที่คิดว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มาทากับผิวหนังโดยตรง บริเวณที่นิยมใช้คือ บริเวณข้อพับแขน โดยการทาเครื่องสำอางบริเวณนั้นวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วดูว่ามีผื่นเกิดขึ้นบริเวณที่ทาหรือไม่

หรืองดใช้ คสอ ทุกชนิด

วิธีทดสอบง่าย ๆ ด้วยตนเองอีกวิธีหนึ่ง ทำโดยการงดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด เมื่ออาการผิวหนังอักเสบหายแล้ว ให้เริ่มใช้เครื่องสำอางใหม่ทีละตัวเป็นระยะ ๆ ไป ถ้ามีผื่นเกิดขึ้นให้ลองหยุดใช้เครื่องสำอางตัวสุดท้ายที่ใช้ ถ้าอาการหายไป ก็น่าจะเป็นเครื่องสำอางตัวสุดท้ายที่เป็นสาเหตุ หลังจากที่ทดลองได้ผลแล้วว่าแพ้เครื่องสำอางตัวใด ควรงดใช้เครื่องสำอางทุกชนิดต่อไปอีก 2 – 6 สัปดาห์ แล้วจึงกลับมาใช้เครื่องสำอางที่ไม่แพ้ได้ใหม่

การทดสอบแบบที่ละเอียดมากกว่าที่กล่าวมานี้ จะทำโดยการทดสอบหาสารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เพื่อตรวจสอบดูว่าจะแพ้สารตัวใดในเครื่องสำอางชนิดนั้น ๆ ซึ่งวิธีนี้จะมีประโยชน์ คือ ต่อไปถ้าเราจะเลือกใช้เครื่องสำอางอีก ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารเคมีตัวที่เราแพ้ได้ การทำ Patch Test แบบนี้ ใช้สารเคมีตัวที่สงสัย ในความเข้มข้นที่เหมาะสม มาทาบนหลังผู้ป่วย แล้วใช้เทปปิดทับไว้ ทิ้งไว้ 2 วัน กลับมาอ่านผล โดยดึงเอาเทปออก แล้วตรวจดูผิวหนังว่ามีผื่นหรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ที่ตำแหน่งของสารเคมีตัวใด ซึ่งจะบอกได้ว่าผู้ป่วยแพ้สารเคมีตัวใดบ้าง

อาการแพ้เครื่องสำอาง

ปัญหาที่หลายคนสงสัย คือ อาการอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการแพ้เครื่องสำอาง ซึ่งจะทำให้ระมัดระวังตัวหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น

อาการกลุ่มแรกของการแพ้เครื่องสำอาง คือการที่ผู้ป่วยใช้เครื่องสำอางแล้วรู้สึกด้วยตนเอง เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน อาการคัน ปกติอาการเหล่านี้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 10 นาที

อาการกลุ่มต่อมา เป็นอาการที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลาย ๆ คนมีความเชื่อว่าคนผิวขาวจะมีโอกาสแพ้เครื่องสำอางได้ง่ายกว่าคนผิวคล้ำ ที่จริงก็ไม่เสมอไปนัก คนผิวดำเช่นพวกนิโกร ก็มีอาการแพ้เครื่องสำอางได้เช่นกัน บริเวณของร่างกายที่จะแพ้เครื่องสำอางได้มากที่สุด คือ บริเวณใบหน้าเพราะผิวหนังบริเวณนั้นบางที่สุด อาการแพ้ที่แสดงให้เห็นด้วยตาแบบนี้ อาจเห็นเป็นตุ่มน้ำสีแดง เล็ก ๆ ผิวหนังอักเสบแดง หรือเป็นปื้นนูนแบบลมพิษ

ที่น่าสนใจคือ การแพ้เครื่องสำอางมักจะก่อให้เกิดรอยดำบนใบหน้า น้ำหอมจะมีสารเคมีที่เมื่อโดนแสงแล้วจะกระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงแดด เห็นเป็นรอยดำบริเวณที่ทาน้ำหอม เช่น ซอกคอ หลังฝ่ามือ หรือในคนที่ชอบใช้น้ำหอม โอเดอร์โคโลญจน์ลูบหน้า จะเห็นเป็นปื้นดำที่หน้าได้เช่นกัน ในบางประเทศพบว่าการใช้ยารักษาฝ้าที่มีสารไฮโดรควิโนนความเข้มข้นสูง ๆ จะก่อให้เกิดปื้นดำบนใบหน้าได้ คือนอกจากฝ้าจะไม่หายแล้วยังเกิดรอยดำใหม่ขึ้นบนใบหน้าด้วย ฉะนั้นคนที่ชอบใช้ครีมรักษาฝ้าด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ควรจะต้องระวังผลแทรกซ้อนนี้

คสอ ที่เกี่ยวกับ เล็บ

เครื่องสำอางที่ใช้ที่เล็บก็อาจทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองรอบเล็บได้ รวมทั้งทำให้เล็บผุกร่อนและเปลี่ยนสีได้

น้ำยาดัดผม

เครื่องสำอางพวกน้ำยาดัดผมและน้ำยายืดผม จะมีคุณสมบัติทำให้ไดซัลไฟด์บอนด์ของเส้นผมแตกตัวออก การใช้เครื่องสำอางประเภทนี้จึงอาจทำให้เส้นผมเปราะหักได้ เส้นผมที่อ่อนแออยู่แล้ว เช่น เส้นผมที่ได้รับการดัดมาแล้ว ยืดมาแล้ว ถูกย้อมหรือถูกกัดสีมาแล้ว หรือเส้นผมที่ถูกแสงแดดมาก ๆ หรือถูกสารคลอรีนมาก ๆ จะยิ่งเปราะ หักได้ง่ายกว่าเส้นผมปกติ

คสอ ที่ทำให้เกิดสิว

เครื่องสำอางทำให้เกิดสิวได้ ในท้องตลาดปัจจุบันเครื่องสำอางหลายชนิดมีส่วนประกอบของสารที่ก่อให้เกิดสิวได้ จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นคนที่อายุ 30 – 40 ปี ยังคงเป็นสิวอยู่ ทั้ง ๆ ที่สิวโดยปกติแล้วจะเป็นในช่วงวัยรุ่น มีการทดลองใช้เครื่องสำอางทาหูกระต่าย พบว่าหูกระต่ายมีตุ่มสิวขึ้นมาได้เช่นกัน ที่น่าสนใจกว่านั้นพบว่าการทดลองเกี่ยวกับการเกิดสิวนั้น ยังไม่ได้มาตรฐานพอที่จะยึดถือได้ เครื่องสำอางที่อ้างว่าไม่ก่อให้เกิดคอมมีโดน (คอมมีโดน คือ ต้นกำเนิดของสิว) เมื่อใช้ ๆ ไปก็พบว่าทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน

เครื่องสำอางที่ใช้บริเวณตา

เครื่องสำอางที่ใช้บริเวณตา ได้แก่ มาสคาร่า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ฯลฯ เครื่องสำอางเหล่านี้อาจพบว่าก่อให้เกิดอาการระคายเคืองรอบดวงตาได้ จากฝุ่นผงของอายแชโดว์ การเช็ดทำความสะอาดออกไม่หมด ฯลฯ

เครื่องสำอางที่ใช้บนใบหน้า

มีรายงานการวิจัยพบว่า มากกว่า 10% ของผู้ที่แพ้เครื่องสำอาง เกิดจากการใช้เครื่องสำอางบนใบหน้า ซึ่งรวมถึงลิปสติก บลัชออนทาแก้ม และแป้งทาหน้า

เมื่อประมาณ 30 ที่แล้ว การแพ้ลิปสติกพบได้บ่อย ซึ่งการแพ้ส่วนใหญ่เกิดจากสารสีแดงอีโอซิน (Eosin) ที่เป็นส่วนผสม แต่ต่อมาแฟชั่นนิยมสีลิปสติกที่จางลง ทำให้พบการแพ้น้อยลงตามไป และมีการสกัดสารอีโอซินที่บริสุทธิ์ขึ้นด้วย โอกาสแพ้จึงพบได้น้อยลง

ส่วนบลัชออนทาแก้มนั้น มีหลายประเภท เช่น แป้ง ครีม น้ำ แท่ง หรือ เจล เพื่อให้ได้สีและเงาที่มากขึ้น จึงต้องมีการใส่สีอินทรีย์ลงไปในบลัชออน เช่นเดียวกับลิปสติก ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

ส่วนเครื่องสำอางที่ใช้บนใบหน้านั้น ใช้เพื่อให้ผิวหน้าเนียนเป็นสีเดียวกัน และเพื่อลบรอยต่าง ๆ บนใบหน้า รูปแบบของเมคอัพนั้นมีหลายชนิด เช่น อยู่ในรูปของสารละลายน้ำและน้ำมัน โลชั่นปราศจากน้ำมัน แท่งสติ๊ก แป้งฝุ่น แป้งเค้ก ฯลฯ ซึ่งสารประกอบที่สำคัญคือ ไททาเนียมไดออกไซด์ ซึ่งจะมีคุณสมบัติสะท้อนแสง เพื่อป้องกันแสงแดด และสารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ได้แก่ พาบา น้ำหอม ตัวทำละลาย สารกันบูด ฯลฯ

เครื่องสำอางที่ใช้กับเล็บ

อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ เช่น น้ำยาทำให้เล็บแข็ง จะมีสารฟอร์มาดีไฮด์ ทำให้แพ้ได้ ส่วนน้ำยาทาเล็บนั้น ก็พบรายงานว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย การแพ้น้ำยาทาเล็บมีลักษณะแปลกที่ว่า ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นอาจพบได้ที่บริเวณอื่น ๆ ที่ห่างไกลจากนิ้วมือ คือ อาจพบผื่นผิวหนังอักเสบจากการแพ้น้ำยาทาเล็บได้ที่เปลือกตา รอบปาก คาง ข้างคอ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ป่วยใช้เล็บที่เปื้อนน้ำยาทาเล็บไปเกาบริเวณต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนประกอบในน้ำยาทาเล็บที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ โทลูอีนซัลโฟนาไมด์ และฟอร์มาดีไฮด์ และพบว่าในคนไข้บางคนที่ทายาทาเล็บแล้วแพ้นั้น ถ้าทาเล็บแล้วปล่อยให้แห้งสนิท โอกาสแพ้ยาทาเล็บจะน้อยลง การทดสอบว่ายาทาเล็บแห้งสนิทหรือไม่ สามารถทำได้โดยใช้ไม้พันปลายสำลีแตะดู

น้ำยาล้างยาทาเล็บ จะประกอบด้วยสารละลายอะซิโตน สารเอมิล บิวทิล หรืออิทิลอะซิเตท พบว่าอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้เช่นกัน

ปัจจุบันมี เล็บปลอม คือ เล็บสำเร็จรูป ที่ตกแต่งทาสีไว้แล้ว ผู้ซื้อมาใช้ก็เพียงแต่เอามาแปะติดที่เล็บเดิมด้วยกาวพิเศษ วิธีนี้สะดวกมากโดยเฉพาะกับผู้ที่มีเล็บผิดรูปร่าง แต่พบว่าสารเมทธาไครลิก อะซิดเอสเตอร์ ที่ใช้ในเล็บปลอมนี้ ก่อให้เกิดการแพ้ได้มากเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน

ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน เป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าของที่ใช้กับผิวเด็กอ่อนที่บอบบาง ย่อมนำมาใช้กับผิวหนังผู้ใหญ่ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ออกวางตลาดเพื่อให้ใช้บนผิวหนังและหนังศีรษะของทารกโดยเฉพาะ ที่จริงแล้วมีรายงานที่พบว่าผิวหนังของเด็กจะมีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่าของผู้ใหญ่ ซึ่งก็สอดคล้องกับความจริงที่ว่า แพทย์จะมีโอกาสพบผิวหนังอักเสบจากการแพ้ในเด็กได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามผิวหนังของทารกจะมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระคายเคืองได้มาก เช่น บริเวณที่นุ่งผ้าอ้อม ต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบริเวณนี้

เราพบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเด็ก มักจะใส่น้ำหอมซึ่งอาจทำให้แพ้ได้ ส่วนพวกเบบี้ออยล์ แป้งฝุ่น จะมีส่วนผสมง่าย ๆ ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการแพ้ ยกเว้นจากน้ำหอมที่ผสมอยู่ในนั้น อย่างไรก็ตามพวกเบบี้โลชั่น มักจะมีน้ำหอม สารกันบูด ลาโนลิน หรือ โพรพิลีนไกลคอล ที่จะทำให้แพ้ได้บ่อย

แต่สารทำความสะอาดในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับทารก ไม่สามารถขจัดความมัน คราบเครื่องสำอาง ฝุ่นละออง ฯลฯ จากผิวหน้าผู้ใหญ่ได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน การใช้แป้งฝุ่นเด็กซึ่งมีความละเอียดมากมาใช้ทาหน้า ก็เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนในผิวผู้ใหญ่ เพราะผิวผู้ใหญ่มีขนาดของรูขุมขนที่กว้างกว่าทารก บวกกับน้ำมันตามธรรมชาติของผิว จะยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของการอุดตันมากขึ้นไปอีก

หวังว่าบทความนี้คงทำให้หลาย ๆ คนมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแพ้เครื่องสำอางมากขึ้น ข้อมูลบางอย่างรวมทั้งผลเสียจากการใช้เครื่องสำอางเราอาจไม่เคยได้ยินเลย เพราะในการโฆษณาขายเครื่องสำอางนั้น ก็ย่อมต้องใช้นางแบบที่มีหน้าตาสวยสดงดงาม มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ จะมีสักกี่คนที่ได้เห็นภาพที่แท้จริง คือ ภาพของคนที่แพ้เครื่องสำอาง มีใบหน้าเห่อแดง บวมทั้งหน้า ใบหน้าด่างขาวถาวร หรือเป็นสิวเต็มหน้า อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้เครื่องสำอางอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์