สำรวจโรค! 5 โรคร้ายใกล้ตัวที่มาในยุคดิจิตอล

Home / สุขภาพทั่วไป / สำรวจโรค! 5 โรคร้ายใกล้ตัวที่มาในยุคดิจิตอล

เมื่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ , ไอแพด หรือกระทั่งโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ อาจจะเกิดโรคเหล่านี้โดยไม่ทันรู้ตัว เช็คสุขภาพตัวเองก่อนว่าคุณมีปัญหาในด้านไหนบ้าง รู้แล้วให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นซะ สุขภาพจะได้แข็งแรง อยู่กับคนที่เรารักต่อไปนานๆ

5 โรคยุคดิจิตอล

ดวงตา

1.โรคเกี่ยวกับตา ตาแห้ง ตาพร่า ปวดตา ปวดกระบอกตา สายตาสั้น

การจ้องหน้าจอนานๆ จะมีผลต่อสายตามาก ถ้ามีพฤติกรรรมนี้ตลอดเวลาจะส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อมเร็ว หากเลี่ยงจ้องจอนานไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ หรือหลับตาพักสัก 2-3 นาที เพื่อไม่ให้จอประสาทตาและกล้ามเนื้อตาล้าจนเกินไป

หัว บ่า ไหล่

2.อาการปวดศีรษะ อาการปวดคอ-บ่า-ไหล่

การนั่งทำงานในท่าเดิมๆ ร่วมกับจ้องมองเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเวลานานทำให้มีปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ อีกทั้งความเครียดต่างๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวได้ ที่สำคัญคือ โครงสร้างของกระดูกสันหลังและคอนั้นก้มไปด้านหน้ามาก เกิดแรงกดที่กระดูกสันหลังช่วงคอ กล้ามเนื้อบริเวณรอบคอและฐานกระโหลกศีรษะก็เกร็งตัวมากกว่าปกติ ซึ่งบริเวณนี้เป็นส่วนที่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทไปเลี้ยงบริเวณศีรษะจำนวนมาก เมื่ออยู่ในท่าก้มมาก จึงทำให้จำกัดการไหลเวียนดังกล่าวได้

ดังนั้น อาจต้องปรับร่างกายให้เหมาะสมด้วยการลุกขึ้นยืน หรือเดินเพื่อให้ร่างกายได้ขยับบ้าง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอเบาๆ หมุนหัวไหล่ทุกชั่วโมง นั่งอยู่ในท่าที่ถูกต้องตัวไม่ห่างจากจอมากไป นั่งหลังตรง เปิดหัวไหล่นิดๆ ขณะที่นั่งทำงาน จะทำให้สามารถนั่งหน้าจอได้โดยไม่มีอาการปวดมารบกวน

ท้อง

3.โรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย

การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาทำให้เป็นโรคกระเพาะ และส่วนใหญ่มักทานแล้วนั่งอยู่กับที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้ลำไส้ไม่มีการเคลื่อน ระบบการย่อยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ ดังนั้น หลังจากทานข้าวควรลุกขึ้นเดินสัก 3-5 นาที หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปเป็นการขยับเคลื่อนไหวตัวจะแก้ปัญหาอาการทางระบบนี้ได้

คนขี้แพ้

4.โรคภูมิแพ้ ทั้งแพ้อากาศ แพ้ผิวหนัง

ส่วนใหญ่คนในยุคนี้จะอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ค่อยได้รับอากาศถ่ายเท ยิ่งหากต้องนั่งอยู่ในท่าที่หลังค่อมมากๆ ก็ยิ่งไปจำกัดการขยายตัวของปอด การหายใจไม่เต็มประสิทธิภาพ ระบบการถ่ายเทอากาศในร่างกายทำงานได้น้อยลง ออกซิเจนที่ไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายก็ลดลง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภูมิแพ้ต่างๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการนั่งท่าหลังค่อม ควรนั่งให้ถูกต้อง นั่งหลังตรง ยืดตัวตัวตรง อาจเช็กท่าทางตัวเองด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ พร้อมกับยืดอกผายไหล่ ทุกๆ ชั่วโมง อาจจะช่วยแก้ปัญหาอาการนี้ได้

นิ้ว

5.โรคนิ้วล็อก ชานิ้ว

การที่เรานั่งใช้นิ้วเล่นอยู่หน้าจอตลอดเวลา นิ้วเราอยู่ในท่าหงิกงอ ต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ทำให้ข้อมือต้องเกร็งอยู่กับที่ เกิดการอักเสบที่เอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นในข้อมือได้ จึงควรยืดเหยียดนิ้วมือ แขนและหัวไหล่ทุกๆ ชั่วโมง เช่น มือประสานกัน เหยียดนิ้วและแขนให้ตึง เหยียดขึ้นเหนือศีรษะให้สุดแขนแล้ว ปล่อยมือและเหยียดแขนทั้งสองข้างไปด้านหลังช้าๆ จะทำให้กล้ามเนื้อแขน เส้นประสาทที่แขนและมือมีการยืดเหยียด เคลื่อนไหว เป็นการป้องกันภาวะนิ้วล็อกและชานิ้วได้

โดย เพ็ญพิชชากร แสนคำ ผู้จัดการคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี)

ที่มา มติชน ออนไลน์