ดื่มน้ำปัสสาวะ ทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรค

แพทย์ระบุการดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรค ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ บำบัดโรคปวดเรื้อรัง แผลไฟไหม้พุพอง มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ โดยใช้หลัก “พิษต้านพิษ” คล้ายกับการฉีดเซรุ่มถอนพิษงู ย้ำต้องดื่มน้ำปัสสาวะของตนเองเท่านั้น ใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน

“ดื่มน้ำปัสสาวะ” ทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรค

นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล เจ้าของสถานพยาบาลธรรมชาติบำบัด กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรค” ที่ห้องประชุมเบญจกูล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เวลา 10.00 น.ว่า การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคมีตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในนิสสัย 4 คือ ปูติมุตตเภสัช –ยาจากน้ำมูตรเน่า หรือน้ำปัสสาวะ เป็นสิ่งที่สงฆ์พึงกระทำ การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง โดยดื่มก่อนนอนและดื่มตอนเช้าครั้งละ 100 ซีซี. ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเลือกใช้การบำบัดโรคแบบนี้

โดยดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยไม่มีสาเหตุ รักษาโรคภูมิแพ้ ผื่นคัน สะเก็ดเงิน มะเร็ง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ใช้ผ้าชุบน้ำปัสสาวะปิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ส่วนประกอบของปัสสาวะเป็นน้ำร้อยละ 95 ยูเรียร้อยละ 2.5 และสารอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.5 การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดโรคอธิบายได้ด้วยหลักฮีโมโอพาธี หรือหลักพิษต้านพิษ เช่น ฉีดพิษงูทีละน้อย ๆ เข้ากระแสเลือดม้าจนได้ซีรั่ม หรือน้ำเหลืองม้า กลายเป็นเซรุ่มฉีดแก้พิษงู นำพิษของต้นควินิน ที่ทำให้หนาวสั่น มาเป็นยารักษาไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น

พระนักปฏิบัติ ก็ดื่มน้ำปัสสาวะบำบัด

“หลวงปู่โง่น ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติ มีอายุยืนยาว ท่านก็ใช้น้ำปัสสาวะบำบัด มีประชาชนที่อยู่ใกล้วัดของพระดุษฎี เมธังกุโร จังหวัดชุมพร เลื่อมใสศรัทธาดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคเหมือนกัน เขาก็สุขสบายดี ในภาวะที่คนเรายากจน โครงการ 30 บาท งบประมาณก็ไม่พอ เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนพึ่งตนเองได้ การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคเป็นการดื่มด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับได้ ไม่มีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนยา หรือวิตามิน เพราะต้องดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองเท่านั้น” นพ.บรรจบ กล่าว

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับพิษ หรือโทษ

นพ.บรรจบ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับพิษ หรือโทษของการดื่มน้ำปัสสาวะในประเทศไทย ผู้ที่บอกว่าดื่มน้ำปัสสาวะระวังโรคไต เพราะปัสสาวะเป็นของเสียที่ขับออกจากร่างกายนั้น ผู้ที่พูดลักษณะนี้ควรมีหลักฐานมายืนยันด้วย อย่างไรก็ตาม น้ำปัสสาวะบำบัดโรคเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน มะเร็ง ต้องรักษาด้วยการแพทย์ปัจจุบัน ปรับพฤติกรรม คือ หากต้องผ่าตัดก็ต้องผ่าตัดเนื้อร้ายออก มีข้อควรระวังคือ อย่าดื่มน้ำปัสสาวะของคนอื่น ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มีประจำเดือน ไม่ควรดื่มน้ำปัสสาวะ เพราะอาจมีเชื้อโรคติดมาด้วย

“ชาวจีนมีความเชื่อว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเด็กผู้ชายสำหรับคนอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลักการแพทย์พื้นบ้านไทย ใช้น้ำปัสสาวะเป็นยาดองเพื่อปรุงโอสถ เช่น ดองสมอไทย สมอภิเพก มะขามป้อม เป็นยาอายุวัฒนะ” นพ.บรรจบ กล่าว.

ข้อมูลข่าว : สำนักข่าวไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง