อวัยวะภายในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ล้วนเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เรารับประทานเข้าไป รวมทั้งย่อยและขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งสัญญาณเตือนอันตรายออกมา ที่สังเกตได้ง่ายคือ อาการปวดท้อง ซึ่งเราไม่ควรอย่านิ่งนอนใจ เพราะแม้อาการปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจมีภาวะผิดปกติอย่างร้ายแรงที่ เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ปวดท้องแบบไหนควรระวัง ?
สัญญาณเตือน 9 โรคอันตราย ของการปวดในช่องท้อง
นพ.คมเดช ธนวชิระสิน ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องและส่องกล้อง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า
โรคในช่องท้องแต่ละโรค มีอาการแสดงถึงความผิดปกติเช่น การปวดท้อง ที่คล้ายคลึงกัน จนหลายๆ ครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด หรือผู้ป่วยนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ จนได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้าและส่งผลอันตรายได้ จริงๆแล้วอาการปวดท้องในแต่ละโรคนั้นไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการสังเกตและความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย.. รวมทั้งการตรวจสุขภาพด้วยการเจาะเลือดเพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่พบความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจภายในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวด์จึงนับเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อการวินิจฉัย ให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที โรคในช่องท้องที่พบได้บ่อยได้แก่
1. นิ่วในถุงน้ำดี
โดยปกติแล้วถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำดี และเพิ่มความเข้มข้นในการย่อยสลายอาหารประเภทไขมันให้ดียิ่งขึ้น การเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ หรือคนที่อ้วนมากๆ และโรคเลือดต่างๆ ทำให้องค์ประกอบน้ำดีเสียไป จนเกิดการตกตะกอนกลายเป็นนิ่วขึ้น อาการของนิ่วในถุงน้ำดีมีได้ตั้งแต่ สัญญาณเตือนเบื้องต้นคือ แค่ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยโดยเฉพาะ แต่จะไม่ปวดแสบเหมือนโรคกระเพาะ ผ่านไปสักพักคนไข้จะรู้สึกดีขึ้นเอง จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่ากินแค่ยาลดกรดขับลมก็หาย
แต่หากในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้ถึงขั้นถุงน้ำดีอักเสบ อาการอาจรุนแรงขึ้นได้ เช่น คนไข้จะมีอาการปวดจุกๆ ขยับตัวไม่ได้ หายใจเข้าก็เจ็บ เพราะเวลาหายใจเข้ากระบังลมจะดันลงต่ำจนไปดันถุงน้ำดีที่อักเสบอยู่ ปวดชายโครงขวาหรือร้าวไปหลัง และอาจเกิดเป็นหนองและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ หรือถ้านิ่วหลุดและหล่นลงมาอุดตันบริเวณท่อน้ำดี คนไข้จะมีอาการไข้หนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินท่อน้ำดี ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และหากมีนิ่วค้างอยู่เป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ หรือทำให้ตับอ่อนอักเสบ
นอกจากนี้ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มาก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้ ดังนั้นหากตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะนิ่วนั้นโอกาสน้อยมากที่จะหายไปได้เอง ทั้งนี้ควรหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือหากมีอาการตามเบื้องต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคด้วยการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อทำการรักษาต่อไป
2. ไส้เลื่อนหน้าท้อง ขาหนีบ
คือ การที่ผนังของกล้ามเนื้ออ่อนแอลง หรือความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้เกิดการหย่อนหรือฉีกขาด ส่งผลให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมา ทำให้เกิดอาการปวดจุกๆ ท้อง ร่วมกับเราจะสังเกตเห็นการนูนเป็นก้อนในตำแหน่งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบได้บริเวณ สะดือ ขาหนีบ ผนังหน้าท้องที่เคยมีการผ่าตัดมาก่อน ปัจจัยของการเกิดไส้เลื่อนเกิดได้จาก
1) ความอ้วน นน.ตัวที่เพิ่มจะทำผนังหน้าท้องจะขยายจนทำให้ผิวบริเวณหน้าท้องตึงและบาง
2) อายุที่เพิ่มขึ้นผนังหน้าท้องจะเริ่มบางและอ่อนแอลง
3) ความดันในช่องท้องมากกว่าปกติ เช่น ยกของหนัก การเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ
ต่อมลูกหมากโต ท้องผูก หรือโรคบางชนิดที่ทำให้มีน้ำในช่องท้องเพิ่มขึ้น โดยอาการของไส้เลื่อนคือ คนไข้จะปวดท้องแบบจุกๆ รู้สึกแน่นๆบริเวณใกล้ๆ ก้อน หากสังเกตว่ามีส่วนใดบริเวณหน้าท้องหรือขาหนีบนูนขึ้นมาเป็นก้อนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอาการเหล่านี้ หากเป็นจากไส้เลื่อนไม่สามารถหายได้เอง หากปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสความรุนแรงหรือความยุ่งยากในการผ่าตัดมากขึ้น เช่น ลำไส้เน่าหรือ อุดตัน เพราะลำไส้ไม่สามารถกลับเข้าไปได้ โดยคนไข้จะมีอาการ ปวดที่ก้อนมาก อาเจียน ปวดท้องแบบบีบๆ ถ่ายไม่ออก
3. ไส้ติ่ง
อาการของไส้ติ่ง – อวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อตัน เป็นส่วนหนึ่งที่ยื่นออกจากลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอุดตันจากเศษอาหาร ต่อมน้ำเหลืองจากการติดเชื้อของลำไส้ อาการของไส้ติ่งอักเสบคือ ในช่วงแรกจะคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะ ต้องอาศัยการซักประวัติตรวจอย่างละเอียด โดยคนไข้จะมีอาการเบื้องต้นคือคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ร่วมกับอาการปวดท้องบริเวณลิ่นปี่หรือกลางท้อง ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวามากขึ้นหรือร้าวไปด้านหลังก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งการวางตัวของไส้ติ่ง หากอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไข้มักขยับตัวไม่ค่อยได้จะรู้สึกเจ็บมาก เริ่มมีไข้ ซึ่งอาการปวดไส้ติ่งไม่สามารถหายเองได้
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตก เป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ควรสังเกตตนเองหากมีอาการปวดท้องด้านขวาสักพักแล้วไม่หาย และยังมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
4.แผลในกระเพาะอาหาร/ลำไส้อักเสบ
โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยรวมไปถึงเด็กเล็ก โดยกระเพาะอักเสบมักจะพบได้กับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ส่วนลำไส้เล็กอักเสบพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากคือ กลุ่มคนที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบบ่อยๆ ทานข้าวไม่ตรงเวลา ทานรสเผ็ดจัด ดื่มกาแฟเป็นประจำ รวมถึงความเครียด หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ มักมีอาการปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร แต่จะค่อยๆ หายไปเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปสักพัก ไม่สบายท้องส่วนบน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนมีลมในท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน
ขณะที่โรคลำไส้อักเสบมักพบในกลุ่มวัยทำงานได้มากกว่า สังเกตอาการเบื้องต้นคือ อาการแสบท้อง คนไข้จะมีอาการแสบท้องก่อนรับประทานอาหาร แต่เมื่อได้ทานเข้าไปแล้วจะมีอาการดีขึ้น การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดภายในลำไส้ การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญคือ ทานอาหารให้ตรงเวลา ทานอาหารย่อยง่าย งดอาหารรสจัด อาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และลดความเครียด
5. กรดไหลย้อน
อาการสังเกตเบื้องต้นของโรคกรดไหลย้อน เช่น เรอเปรี้ยว ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบน ไปถึงบริเวณกลางอก บางคนอาจมีอาการไอ สะอึก เจ็บคอบ่อยๆ ก็มีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ อ้วน สูบบุหรี่จัด ดื่มชา กาแฟ ทานช็อคโกแลต เป็นประจำ หรือคนที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อยๆ เพราะเป็นการเรียกน้ำย่อยและกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหาร หรือคนที่ทานอาหารแล้วนอนทันที การดูแลตัวเองหากเป็นกรดไหลย้อน อันดับแรกคืองดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลดการทานช็อคโกแลต สเต๊ก เปปเปอร์มิ้นท์ หมากฝรั่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรนอนหนุนหัวสูง(หมอนหนุนถึงหัวไหล่) หรือตะแคงซ้าย อย่านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ก็จะช่วยให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
การรักษาดังกล่าวไม่ดีขึ้น อาจมีไส้เลื่อนหูรูดกะบังลมร่วมด้วย ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง หรือเครื่องตรวจวัดกรดที่หลอดอาหารและกระเพาะใน 24 ชม. ซึ่งอาจให้ยาเพิ่มเติมหรือจำเป็นพิจารณาผ่าตัดรักษาต่อต่อไป
6. ตับอ่อนอักเสบ
คือภาวะที่เกิดการอักเสบของตับอ่อน ทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงได้ หน้าที่ของตับอ่อนคือผลิตน้ำย่อยและฮอร์โมนบางชนิด สาเหตุของตับอ่อนอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ตับอ่อนอักเสบจะมีอาการปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียนมาก โดยเฉพาะคนที่ดื่มเหล้าหนักๆ จะมีอาการปวดท้องจนต้องงอตัวเพื่อให้ความปวดทุเลาลง ซึ่งมักพบบ่อยในเพศชาย สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยอาการอัลตราซาวน์ด
7. ตับอักเสบ
เป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตับ สาเหตุเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา และติดเชื้อไวรัสตับ ซึ่งหากตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดตับแข็ง หรือเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับตามมาได้ อาการที่พบโดยส่วนใหญ่คือ ผู้ป่วยจะมีไข้ และอาการปวดท้องด้านบนขวา ตัวเหลืองขึ้น การวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดช่วยให้พบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้
8. กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ
ผู้ป่วยมักมีประวัติท้องผูกเรื้อรัง อาการที่พบมักปวดท้องบริเวณด้านล่างขวา หรือ ด้านล่างซ้าย นอกจากนี้เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจมีการแตก หรือ การอุดตัน หรือถ่ายเป็นเลือดได้ การรักษาเริ่มตั้งแต่การให้ยา ไปจนถึงการผ่าตัด
9. โรคทางนรีเวช
อาการปวดท้องของโรคทางนรีเวช อาการสังเกตคือ การปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลางหรืออาจจะซ้ายและขวาก็ได้ อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรือปีกมดลูกในผู้หญิง หรือการสังเกตความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ มากระปริดกระปรอย คุณผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
อาการปวดในช่องท้องทั้ง 9 โรคที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการทำงานทั้งสิ้น เมื่อมีสัญญาณเตือนอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
นพ.คมเดช ธนวชิระสิน ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องและส่องกล้อง รพ.กรุงเทพ
ที่มา โรงพยาบาลกรุงเทพ