ทำอย่างไรเมื่อเป็นสิวอุดตัน ? สาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน กำจัดสิวอุดตันด้วยวิธีต่างๆ

เมื่อพูดถึงปัญหาสิว แน่นอนว่า เป็นปัญหาที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใบหน้าของตน แม้จะเป็นเพียงเม็ดเล็กๆ แต่เมื่อเกิดสิวขึ้นบนใบหน้าแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความกังวลใจ และผิวหน้าที่ไม่เรียบเนียน แถมยังทิ้งจุดด่างดำ รูหลุมสิว ไว้บนใบหน้าอีกด้วย หากไม่อยากเผชิญกับปัญหาผิวเหล่านี้ ต้องรู้จักการดูแลผิวหน้าไม่ให้เกิดปัญหา “สิวอุดตัน” เพราะสิวอุดตัน คือจุดเริ่มต้นของปัญหาสิวก่อนที่จะรุกลามกลายเป็นสิวชนิดอื่นๆ – ทำอย่างไรเมื่อเป็นสิวอุดตัน ?

ทำอย่างไรเมื่อเป็นสิวอุดตัน ?

ดร.ภญ.จิรวรรณ โอพรสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.เอ.เดอร์มาเทค จำกัด ผู้นำด้านการผลิต วิจัยและพัฒนา เครื่องสำอางและเวชสำอางที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 22716/ COSMETICS GMP ระดับสากล ได้อธิบายเกี่ยวกับ สิวอุดตันในความเข้าใจของคนทั่วไปอย่างง่ายว่า “สิวอุดตัน คือ สิวขนาดเล็ก ชนิดไม่อักเสบ จะนูนเป็นตุ่มอุดตันอยู่ชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดที่พบบ่อย คือ สิวหัวขาว และ สิวหัวดำ”

ดร.ภญ.จิรวรรณ กล่าวต่อว่า “สิวหัวขาว” หรือ “สิวหัวปิด” จะเป็นตุ่มนูน หากใช้มือลูบไล้จะรู้สึกคล้ายกับมีไตก้อนเล็กๆ อันเกิดจากการอุดตันของไขมันและเซลผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่ภายในรูขุมขน ไม่มีการอักเสบ แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อ หัวสิวก็จะขยายใหญ่ขึ้น บวม แดง กระทั่งกลายมาเป็นสิวที่เราเรียกว่าอักเสบ ในที่สุด

ลักษณะสิวแบบต่างๆ

ส่วน “สิวหัวดำ” หรือ “สิวหัวเปิด” นั้น มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเม็ดเล็กและมีรูเปิด ลักษณะการอุดตันจะคล้ายกับสิวหัวปิดแต่เนื่องจากหัวเปิดทำให้เห็นหัวสิวเป็นจุดสีดำได้อย่างชัดเจน ซึ่งสีดำที่มองเห็นเกิดจากการทำปฏิกิริยาของน้ำมันกับออกซิเจนนั่นเอง

สาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน

สิวอุดตัน เกิดจากการอุดตันของเซลล์เยื่อบุผิวหนังที่ตายแล้ว ผสมเข้ากับน้ำมันบนใบหน้าที่ผลิตจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โดยการอุดตันจะเริ่มจากภายในรูขุมขนใต้ผิวหนัง โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันนั้น มีมากมาย อาทิ

“แม้สิวอุดตันจะเกิดในชั้นใต้ผิวหนัง แต่เมื่อเกิดเป็นก้อนใต้ผิวหนัง จะส่งผลให้ผิวภายนอกเป็นรอยนูน ทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน และแม้สิวอุดตันเล็ก ๆ น้อย ๆ จะไม่ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวด แต่หากไม่ดูแลอย่างถูกต้องอาจเกิดการติดเชื้อและกลายเป็นสิวอักเสบได้ในที่สุด หรือหากกำจัดสิวอุดตันไม่ถูกวิธี อาจทำให้กลายเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้บนใบหน้าได้อีกด้วย” ดร.ภญ.จิรวรรณ กล่าว

การป้องกันสิวอุดตัน

ขณะที่การป้องกันและการแก้ปัญหาสิวอุดตันนั้น “ดร.ภญ.จิรวรรณ” ได้แนะนำการดูแลผิวเป็นสิวไว้ 2 แนวทางได้แก่

1.การป้องกันการเกิดสิวอุดตันง่ายๆ ด้วยตนเอง

1. โดยเริ่มจากล้างทำความสะอาดบริเวณผิวหน้าอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ทำให้ใบหน้าแห้ง ระคายเคืองกับผิว โดยเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว

2. ผู้มีปัญหาสิวอุดตันควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันมาก เนื่องจากปัญหาสิวอุดตันส่วนหนึ่งมาจากปริมาณน้ำมันในชั้นผิวหนังส่วนเกิน จึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าหรือเครื่องสำอางไม่ทำให้ความมันบนใบหน้าเพิ่ม โดยอาจสังเกตสัญลักษณ์ที่ระบุบนฉลากว่า Non comedogenic

3. ปกป้องผิวจากแสงแดด เนื่องจากแสงแดดและอากาศร้อนจะทำให้ผิวแห้งกร้านและกระตุ้นให้เซลล์ผิวผลิตน้ำมันมาล่อเลี้ยงผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวมากขึ้นทำให้เกิดเป็นสิวขึ้น

4. หลีกเลี่ยงการทำร้ายหน้าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การบีบเค้น การแกะ การเกา ต่าง ๆ เพราะจะเป็นการทำร้ายผิวและเป็นการเปิดช่องผิวให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา

2.การรักษาสิวอุดตันด้วยการใช้ยา

โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำในการใช้ยาและผลข้างเคียง เช่น

1. การรักษาสิวอุดตันด้วยยาทาเฉพาะที่เพื่อช่วยเปิดหัวสิว อาทิ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยรักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบได้ จะมีข้อควรระวังเรื่องการทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งลอก และมีรอยด่างชั่วคราวบริเวณที่ทายา

2. การรักษาสิวอุดตันด้วยยาทา กลุ่ม “อนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ” โดยจะทำหน้าที่ยับยั้งสาเหตุของ การเกิดสิว เช่น กดการทำงานของต่อมไขมันทำให้ผลิตสารที่เป็นไขมัน (sebum) ลดลง และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (comedone) เช่น Tretinoin (trans-retinoic acid, vitamin A acid) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพลัดของเซลล์ผิว ทำให้สิวอุดตันชนิดสิวหัวปิด กลายเป็นสิวหัวเปิดและหลุดออกมา

ช่วยลดการเกิดการอักเสบของสิวและลดการเกิดสิวอุดตันที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ได้ แต่จะมีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคือง หน้าแห้ง ผิวอาจจะไวต่อแสง และที่สำคัญคือมีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยาชนิดนี้มีรายงานว่าสามารถก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ได้

3. รักษาสิวด้วย “ยาประเภทฮอร์โมน” ใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่เป็นสิวระดับปานกลาง หรือ รุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือมีอาการแสดงความผิดปกติของระบบไร้ท่อ ใช้เมื่อแพทย์แนะนำ ส่วนอาการข้างเคียง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง เจ็บคัดตึงเต้านม มีปฏิกิริยาทางผิวหนัง มีผลกับประจำเดือน เป็นต้น

**เนื่องจากยารักษาสิวอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง การใช้ยารักษาสิวต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น

กำจัดสิวอุดตันด้วยการทำหัตถการต่าง ๆ

1. การกดสิว หลังกดสิวอุดตันออก จะทำให้เกิดรอยแดงและรอยแผลเป็นและทำให้รูขุมเปิดกว้าง

2. การใช้กรดผลไม้ผลักดันลงใต้ผิวเพื่อผลัดเซลล์ผิว ให้หัวสิวหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

3. การกรอผิว ด้วยผลึกคริสตัลขนาดเล็กกรอลอกผิวบริเวณที่เป็นสิว ทำให้สิวที่อุดตันบริเวณนั้นหลุดออกไป

การดูแลรักษาสิวอุดตันที่เป็นน้อย ๆ หรือปานกลาง สามารถที่จะดูแลตัวเองได้โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นสิวที่ไม่ทำร้ายผิว อ่อนโยน เลือกที่ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนังแล้วว่าไม่แพ้ระคายเคือง แต่หากต้องรักษาด้วยยาหรือหัตถการเพื่อความปลอดภัยต้องอยู่ใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาพอสมควรขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงของปัญหาสิว

นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติทั่วไปสำหรับคนที่มีผิวเป็นสิว โดย ดร.ภญ. จิรวรรณ ได้แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หรือ บริเวณที่เป็นสิว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากสิวแพร่ไปยังผิวบริเวณอื่น การสัมผัสยังกระตุ้นทำให้ผิวเป็นรอยแดง ระคายเคือง การแคะแกะเกาก็จะทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ และให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติควบคุมความมันบนใบหน้าและระบุว่าเป็นสูตร non-comedogenic หรือสูตรที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิวอุดตันนั้นเอง

หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือสัมผัสกับแสงแดดจ้าหรืออยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า เป็นเวลานาน ที่สำคัญ คือ ต้องรักษาความสะอาดบนใบหน้า ด้วยการล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดอย่างถูกวิธี ล้างเครื่องสำอางก่อนเข้านอน รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกอาหารที่รับประทานให้หลากหลาย ดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติด้วย

เครดิตภาพจาก : Freepik

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง