ตรวจเช็ก 4 อาการ ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด

การดูแลหัวใจให้สดใสแข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญ จากสถิติของโรคหัวใจแต่กำเนิดพบว่าประมาณ 1 ใน 1,000 ของเด็กเกิดใหม่เป็นโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว และพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า ในช่วงวัยเด็กอาจไม่ปรากฏอาการ ต่อเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและผู้ใหญ่จึงมีอาการ หรือบางรายอาจตรวจพบได้จากการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจโดยบังเอิญ

ตรวจเช็ก 4 อาการ ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ หากรูรั่วมีขนาดเล็กอาจยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่ออายุมากขึ้นอาการที่ผิดปกติก็จะแสดงออกมา และหากปล่อยไว้อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหัวใจล้มเหลวได้ การสังเกตตนเองหรือไปพบอายุรแพทย์หัวใจเพื่อตรวจเช็กโดยละเอียดคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รักษาได้ทันเวลา และลดผลแทรกซ้อน

โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว( Atrial Septal Defect หรือ ASD) เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาการของหัวใจของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีการพัฒนาของผนังกั้นหัวใจที่ไม่สมบูรณ์ มีรูรั่ว ทำให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาและผ่านไปปอดเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจโตผิดปกติ

สัญญาณเตือนโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วประกอบด้วย 4 อาการดังนี้ 1.หอบ 2.เหนื่อยง่าย 3.ใจสั่น 4.มือเท้าเขียวหรือม่วง

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเริ่มมีอาการ ขณะบางรายมีโอกาสเป็นอัมพาตได้เนื่องจาก ลิ่มเลือดจากห้องหัวใจห้องขวามีโอกาสหลุดผ่านผนังที่รั่วไปยังหัวใจห้องบนซ้ายและขึ้นไปยังหลอดเลือดสมองได้ คนไข้บางรายที่รูรั่วมีขนาดใหญ่และความดันหลอดเลือดแดงปอดสูงจะมีอาการเหนื่อยมาก ริมฝีปาก มือและเท้าเขียวหรือม่วง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ทำได้โดยการฟังเสียงหัวใจและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง (Echocardiogram)

โดยหลักการทำงานของเครื่องคือ ส่งคลื่นเสียงเข้าไปในทรวงอกแล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลงเป็นภาพให้เห็นบนจอภาพ ซึ่งจะแสดงถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ และลิ้นหัวใจว่าปกติ และการตรวจ Echocardiogram เป็นการตรวจหาโรคหัวใจแต่กำเนิดที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยง่ายหรือแน่นหน้าอกได้ และช่วยให้อายุรแพทย์โรคหัวใจสามารถกำหนดแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง 

การรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type (รอยรั่วตรงกลางผนัง)

หากผู้ป่วยมีรูรั่วขนาดเล็กมาก มีโอกาสที่รูจะปิดได้เองแต่ก็มีเพียงส่วนน้อย ซึ่งหากรูที่รั่วมีขนาดเล็กและไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่หากรูที่รั่วนั้นมีขนาดปานกลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึง 3.6 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูขนาดใหญ่ ในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่มีกายวิภาคที่เหมาะสม แพทย์สามารถทำการรักษาด้วยเทคนิคสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ (นิกเกิลผสมไทเทเนียม)

การรักษาด้วยวิธีนี้ข้อดีคือ ไม่ต้องดมยาสลบ ลดความเสี่ยงและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด แผลบริเวณขาหนีบมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาในการทำประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง หลังการรักษาผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลประมาณ 3 วัน และจะได้รับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ก่อนกลับบ้าน

และหลังการรักษาแพทย์จะนัดติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เช่น 1 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งการรักษาโดยเทคนิคสายสวนนี้สามารถปิดรูรั่วได้ ประมาณ 98% และพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อยกว่า 2%

ข้อควรระวังและการดูแลตัวเองของคนไข้

หลังการการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์อุดรูรั่ว ได้แก่ ห้ามยกของหนักประมาณ 1 เดือน งดออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดตามที่แพทย์สั่งประมาณ 3 – 6 เดือน และคุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปีในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงกินยาป้องกันการติดเชื้อ (Infective endocarditis prophylaxis) ในช่วง 6 เดือนแรก

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่สามารถทำได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ารูที่รั่วมีขนาดมากกว่า 36 มิลลิเมตร หรือมีรูรั่วหลายรู ในรายที่มีโรคหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ต้องพิจารณาร่วมกับศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 0 2310 3000 หรือ Call Center โทร. 1719

ข่าวที่เกี่ยวข้อง