ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว เกิดจากการทำงานผิดปกติของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้เพียงพอ ความรุนแรงมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่รีรอไม่ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น การรู้เร็วย่อมดูแลตัวเองได้ถูกวิธี และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้
ภาวะ หัวใจวาย
นพ.วิชัย จิรโรจน์อังกูร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หัวใจวายสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง ลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดลดลง หรือลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน ทำให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง กลุ่มของโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ และผู้หญิงที่มีอาการของครรภ์เป็นพิษ ซึ่ง 3 อาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่า หัวใจกำลังจะวายหรือล้มเหลว ได้แก่
3 อาการสังเกตก่อนหัวใจวาย
1) เหนื่อยง่าย อาการเหนื่อยอาจบ่งบอกว่าหัวใจมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ความรุนแรงของโรคมักจะสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ หากมีอาการเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาจะสื่อถึงความผิดปกติที่รุนแรง
2) แสบแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ อาการแสบแน่นหน้าอกบ่งบอกว่าหัวใจเกิดการขาดเลือด ส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกแน่นบริเวณกลางหน้าอก อาจมีปวดร้าวจากคอขึ้นไปกราม มีอาการตึง ๆ ชาๆ ที่หัวไหล่ไปถึงช่วงแขน รู้สึกเหมือนมีของหนักทับ หากมีอาการเหล่านี้นานเกิน 20 นาที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง
3) อึดอัดเวลานอนราบ จะรู้สึกอึดอัดเวลานอนราบ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าปริมาณน้ำในหัวใจเพิ่มขึ้นจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติค่อนข้างรุนแรง
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่เส้นเลือดหัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบกับสุขภาพในอนาคตได้ จึงควรตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Score หรือ CAC) เป็นการหาคราบหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ต้องฉีดสี ใช้เวลาตรวจเพียง 10 – 15 นาที คะแนนที่ตรวจได้ไม่ควรเกิน 400 คะแนน เพราะอาจหมายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
โดยแพทย์จะทำการประเมินอาการและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด หากรู้ถึงความเสี่ยงได้โดยเร็ว จะสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม การพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กหัวใจเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ในระยะยาว และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก่อนวัยอันควรได้ รวมถึงการการไม่ประมาท เลือกรับประทานอาหารและเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหัวใจต้องพกยาติดตัวไว้เสมอและรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานระดับสากล โดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและบุคลากรที่มีความชำนาญพร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมทำหัตถการหรือผ่าตัดฉุกเฉินได้ทันที เพื่อลดความรุนแรงของโรคและให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.1719 หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital