โดยปกติแล้ว ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจตีบ มากกว่าผู้หญิงในวัยอื่น และเพราะความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพิ่มขึ้นได้ตามอายุ โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น หลังหมดประจำเดือน ดังนั้นการใส่ใจดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
หญิงวัยหมดประจำเดือน
เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ภาวะของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
พญ.กรองอร ภิญโญลักษณา อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้หญิงวัยทอง คือ ภาวะที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือนอย่างถาวร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน เป็นเวลา 1 ปี อายุเฉลี่ย 50 ปีหรือระหว่างอายุ 45 – 55 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการที่รังไข่หยุดทำงาน คือ อายุมากกว่า 40 ปี และ 2. จากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถเกิดได้ในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี โดยปกติรังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนรังไข่จะหยุดทำงาน ทำให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ลดลง
อาการต่างๆ ของวัยหมดประจำเดือน
นำไปสู่อาการต่าง ๆ ของวัยหมดประจำเดือน ได้แก่ รู้สึกร้อนวูบวาบ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน ในบางคนมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งอาการมักเกิดในช่วง 3 – 4 ปีก่อนและหลังหมดประจำเดือน โดยช่วงเวลา และความรุนแรงอาจแตกต่างกันในแต่ละคน และในบางคนอาจไม่มีอาการเลย นอกจากนี้ยังอาจพบโรคที่เกิดจากภาวะการขาดฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น โรคกระดูกพรุน ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติฮอร์โมนเพศหญิง จะช่วยลดระดับไขมันไม่ดี และเพิ่มระดับไขมันที่ดีในเลือด ป้องกันไม่ให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายยืดหยุ่น เมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิงจึงส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว หรืออุดตันได้ทั่วร่างกาย รวมไปถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง
ภาวะหลอดเลือดตีบ
ภาวะหลอดเลือดตีบ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยอาการที่เกิดจะขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของหลอดเลือด ที่ตีบในอวัยวะนั้น ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปแขนซ้าย กราม หรือไหล่ รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเป็นซีก มุมปากตก พูดไม่ชัด หรือถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา จะมีอาการปวดขาเวลาเดิน
การป้องกันหลอดเลือดตีบ
การป้องกันหลอดเลือดตีบ คือควรตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สำหรับทางด้านหัวใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบหนักปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ งดสูบบุหรี่ หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ฯลฯ ควรดูแลควบคุมโรคให้ได้ตามเกณฑ์ของข้อบ่งชี้
การตรวจเช็กหลอดเลือดตีบ
โดยการตรวจเช็กหลอดเลือดตีบ สามารถตรวจภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ใช้การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound) หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนปลาย อย่างขา แขน ใช้การตรวจสมรรถภาพ การไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Ankle Brachial Index : ABI) ถ้าอาการไม่รุนแรงมากจะรักษาด้วยการให้ทานยาลดไขมัน เพื่อลดหรือป้องกันไม่ให้ตีบเพิ่มขึ้น
หรือสำหรับหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันสามารถป้องกัน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ รวมถึงการกินยาต้านเกล็ดเลือดและยาตัวอื่นๆ ถ้าหากมีอาการที่รุนแรง สำหรับหัวใจต้องรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด (Stent) หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิต ช่วยลดอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยการรักษาผู้ป่วยจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่วั ยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ควรพึงระวังภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้อมูลข้างต้น หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจเช็กสุขภาพเพื่อป้องกันและดูแลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมไปถึงโรคหัวใจหากมีได้อย่างถูกวิธี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.1719 หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital
พญ.กรองอร ภิญโญลักษณา อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ