ผายลมพาเครียด! คนที่ตดบ่อยเกิน 23 ครั้งต่อวัน อันตราย!!

พาดหัวจาก นสพ.ข่าวสด ที่บอกว่า “ตดเหม็นไม่อันตราย เท่าตดบ่อยเกิน 23 ครั้งต่อวัน” ทำเราต้องคลิกอ่าน โดยเนื้อหาในข่าวบอกว่า “เว็บไซต์ Scimath คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดทำโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยแพร่บทความเรื่องตด ความว่า..

ตดเหม็นไม่อันตราย เท่าตดบ่อยเกิน 23 ครั้งต่อวัน

ตดดังและตดเหม็น อันตรายหรือไม่?

การผายลมที่มีเสียงดัง เกิดจากการที่แก๊สถูกขับออกมาด้วยแรงดันอากาศหรือแรงเบ่งที่สูงมาก หรืออาจเกิดจากการที่แก๊สต้องแทรกตัวผ่านกล้ามเนื้อหูรูดที่บีบตัวแน่น เสียงที่มาพร้อมกับการผายลมจึงไม่ได้บ่งบอกถึงความผิดปกติอะไร

กลิ่นตด

ส่วน กลิ่นตด นั้นขึ้นอยู่กับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ส่วนใหญ่แล้วอาหารจำพวกโปรตีนจะก่อให้เกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นมาก เช่นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ ชีส และนม รวมไปถึงถั่วชนิดต่างๆด้วย อีกทั้งแก๊สเหล่านี้ต้องเดินทางผ่านลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาหารและกากอาหารที่ถูกย่อยสลายแล้ว จึงมีกลิ่นเหม็นเป็นธรรมดาและไม่ถือว่าเป็นสัญญาณของความผิดปกติของสุขภาพแต่อย่างใด

ข้อแนะนำเพื่อให้ตดแต่น้อยและไม่มีกลิ่น

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเติมแก๊ส เช่น น้ำอัดลม เบียร์ โซดา เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปเพิ่มปริมาณลมหรือแก๊ส ทำให้เรอและผายลมมากขึ้น

ลดอาหารไขมันสูง เพราะอาหารประเภทไขมันจะใช้เวลาย่อยนานกว่าอาหารประเภทอื่น จึงอาจอยู่ในกระเพาะได้นานถึง 2 ชั่วโมง แบคทีเรียมีเวลาเหลือเฟือในการสร้างแก๊สตด แต่ถ้ากินไขมันน้อยลง ลำไส้จะบีบตัวให้อาหารผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น แบคทีเรียสร้างแก๊สในลำไส้ได้ลดลง ก็จะช่วยป้องกันอาการท้องอืดและผายลมได้

อาหารค้างคืนที่นำออกจากตู้เย็นมาอุ่น ก็สามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียในอาหารผลิตแก๊สได้ การกินอาหารที่อุ่นซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงมีส่วนทำให้ตดบ่อย

อย่ากินอาหารหรือดื่มน้ำเร็วเกินไป เพราะระหว่างนั้นเราจะกลืนลมเข้าไปด้วย การกินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้กลืนอากาศเข้าไปน้อยลง

การอมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือสูบบุหรี่ ก็เช่นเดียวกัน เวลาที่เรากลืนน้ำลายหรือสูบบุหรี่ ก็จะกลืนอากาศเข้าไปด้วย

จำนวนตดที่ปกติ

โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงดีจะตดประมาณ 14-23 ครั้งต่อวัน เมื่อใช้เกณฑ์นี้เป็นตัววัดแล้ว การผายลมที่มากกว่า 23 ครั้งภายในหนึ่งวันถือว่าผิดปกติ โดยความผิดปกตินี้อาจเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สในร่างกายมากเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ชีส กระหล่ำปลี หัวหอม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม หรืออาจเกิดจากภาวะความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งภายในร่างกาย

การผายลมบ่อยมากเกินไป เป็นสัญญาณที่บ่งบอกสุขภาพภายในได้เป็นอย่างดี ซึ่งภาวะหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการผายลมมีด้วยกันดังนี้ โรคมะเร็งลำไส้ โรคลำไส้แปรปรวน ระบบดูดซึมอาหารทำงานผิดปกติ การแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของแลคโตส(lactose) เช่น นมวัวและโยเกิร์ต ภาวะที่เกี่ยวของกับกระเพาอาหาร เช่น การที่อาหารเป็นพิษ เราควรหมั่นนับจำนวนครั้งที่เราผายลมในแต่ละวันเพื่อสังเกตการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและลำไส้

หากผายลมบ่อยครั้งเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สได้ง่าย แต่หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และหาทางแก้ไขอย่างเร็วที่สุด

สาระความรู้เรื่องผายลม

ตดดังเกิดจาก?

ตดเกิดจากการสั่นไหวของกล้ามเนื้อหูรูดปากทวารหนัก ตดจะดังมากดังน้อยจึงขึ้นกับความกระชับของกล้ามเนื้อหูรูดและความดันลมภายในลำไส้ใหญ่ แก๊สที่เกิดขึ้นจากการทำงานของแบคทีเรียทีหลายชนิด ชนิดที่ไม่มีกลิ่นและชนิดที่เหม็นแรงไปไกล ชนิดที่ไม่ติดไฟและชนิดที่ติดไฟ

ตดเหม็นเกิดจากแก๊ส hydrogen sulfide อันเนื่องมาจากแบคทีเรียไปกินอาหารที่มีซัลเฟอร์สูง เช่น เนื้อสัตว์ เป็นต้น มีรายงานว่า คนที่กินเนื้อสัตว์จะตดเหม็นกว่าคนกินมังสวิรัติ คนชอบกินอาหารรสจัดใส่เครื่องเทศมากหรือชอบดื่มเบียร์ ก็ตดเหม็นไม่เบานอกจากนั้นอาการท้องผูกก็ทำให้ตดมากและตดเหม็น

ทั้งนี้การลดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมากแล้ว สมุนไพรหลายตัวยังช่วยลดแก๊สลำไส้อย่างได้ผล คือ ขมิ้น และโดยเฉพาะขมิ้นชันในแคปซูล ขิง เป็นอีกตัวหนึ่งที่ชาวตะวันออกและชาวตะวันตกใช้กินลดการผายลม นอกจากนี้ยังมียี่หร่า สะระแหน่ คาราเวย์ คาโมไมล์เซจ ฯลฯ

สมุนไพรเหล่านี้อาจใช้ปรุงอาหาร หรือชงดื่มเป็นชาสมุนไพร สุดท้าย โยเกิร์ต ช่วยปรับแบคทีเรียภายในลำไส้ใหญ่ให้มีปริมาณและประเภทที่เหมาะสมไม่สร้างแก๊สมากเกิน

ที่มา นสพ.ข่าวสด

ภาษาสุภาพของ ตด คือ ผายลม , เรียกน่ารักๆ ได้อีกว่า “ปุ๊งๆๆๆ” “ตกเหม็ง” ไม่ว่าอะไร ก็เหม็นเหมือนกัน 5555+

ท้ายนี้ อ่านไป รู้สึกกลิ่นตุๆ ไปยังไงไม่รู้ .. อ๋อยยย ลาก่อยย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง