ถ้วยอนามัย อีกทางเลือกหนึ่งของสาวๆ แทนการใช้ ผ้าอนามัย มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ถ้วยอนามัย (Menstrual cups) หรือ ถ้วยรองประจำเดือน เป็นอุปกรณ์สุขอนามัยของผู้หญิง สามารถใช้แทน ผ้าอนามัย ได้ ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอด

มีหน้าที่ เก็บกักประจำเดือน ป้องกันการรั่วไหลของประจำเดือน ที่จะเปื้อนเสื้อผ้าได้สูง สามารถล้าง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประหยัดเงิน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดจำนวนขยะ โลกร้อน โลกเลอะไปได้เยอะเลย

ถ้วยอนามัย ถ้วยรองประจำเดือน

การใช้ ถ้วยอนามัย ในประเทศไทย ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ด้วยความกลัวว่าจะเจ็บ หรือด้วยความเข้าใจในสรีระภายในของตนเอง ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก จึงไม่กล้าลองใช้

รูปร่าง ลักษณะ

ถ้วยอนามัย วัสดุส่วนใหญ่ทำจาก ซิลิโคน เป็นซิลิโคนเกรดการแพทย์  hypoallergenic เนื้อนิ่ม (ไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป) มีหลายสี หลายรูปแบบ แล้วแต่ยี่ห้อ ขนาดมี 2 ไซส์ S และ L รูปร่างคล้ายกระดิ่ง หรือระฆังที่มีก้าน ก้านมันสามารถตัดออกได้ ถ้าตอนใส่แล้วรู้สึกไม่สบายตัว (ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคน)

ความแตกต่างระหว่างไซส์ S และ L

เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ ถ้วยอนามัย การเลือกขนาดที่พอดีกับสรีระของร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ใช้อาจขอคำแนะนำเบื้องต้นจากเภสัชกรก่อนการเลือกซื้อ (แต่เอาจริงๆ แอดมินว่า 4 cm. กับ 4.5 cm. ไม่ได้ต่างกันเลย)

วิธีใช้ ถ้วยอนามัย

1. ลวกหรือต้มถ้วยอนามัย ในน้ำต้มเดือด 3-5 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค
2. ล้างด้วยน้ำสบู่อีกครั้งหนึ่ง
3. ทำตัวผ่อนคลาย อย่าเกร็ง (relax นะจ๊ะ)
4. นั่งบนชักโครก นั่งยองๆ แล้วแต่จะถนัดเลย
5. พับถ้วยอนามัย มีทั้งหมด 4 รูปแบบ (ตามคลิป) แล้วค่อยๆ สอดใส่เข้าไป ถ้วยจะกางออก เมื่อถึงจุด จุดหนึ่ง
6. ลองขยับก้านถ้วย จะรู้สึกเหมือนเป็นสุญญากาศ ลองขมิบ ขยับ เพื่อให้เข้าที่

** หากใส่ลำบาก สามารถใช้ร่วมกับเจลหล่อลื่นได้ **

วิธีนำถ้วยอนามัยออก

1. นั่งบนโถส้วมชักโครก ทำตัวผ่อนคลาย
2. ค่อยๆ บีบโคนถ้วยเล็กน้อย เพื่อให้อากาศเข้าไป จะสามารถดึงออกได้ แล้วขยับดึงออกอย่างช้าๆ
3. เทประจำเดือนทิ้งลงชักโครก
4. ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ ก่อนใส่กลับเข้าไปอีกครั้ง
5. หากหมดประจำเดือนแล้ว ล้างให้สะอาด และควรลวก หรือต้มด้วยน้ำร้อนก่อน แล้วเก็บใส่ภาชนะที่มิดชิด

ข้อดี ของการใช้ ถ้วยอนามัย

– ลดค่าใช้จ่าย เพราะมีอายุการใช้งานนาน 5-10 ปี (แนะนำ 3-5 ปี)
– ลดขยะ ลดโลกร้อน โลกเลอะ
– รองรับการใช้งานยาวต่อเนื่อง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณประจำเดือน)
– รองรับปริมาณได้ดีกว่าการใส่ ผ้าอนามัยแบบสอด ได้ถึง 3 เท่า
– ประหยัดเงินในการซื้อผ้าอนามัย ทุกเดือนๆ
– ใส่แล้วสามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนเขา โดดร่ม นั่ง นอน วิ่ง
– ไม่ไหลซึมเปื้อน ไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์
– ใส่แล้ว มีความสบายตัว จนไม่รู้สึกว่ามีประจำเดือน
– ตอบโจทย์ผู้ที่มีอาการแพ้ ผ้าอนามัย
– โอกาสติดเชื้อ น้อยกว่าการใช้ผ้าอนามัยแบบปกติ

ข้อเสีย ข้อควรระวัง

– ลำบากในการใช้ครั้งแรก บางรายถอดใจ เลิกใช้ไปเลย
– สำหรับผู้ที่แพ้ยางหรือแพ้ซิลิโคนนั้น อาจเสี่ยงต่อการเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังภายในช่องคลอด
– ต้องดูแลรักษาความสะอาดตัวถ้วยอนามัยมากขึ้น
– การล้างทำความสะอาดในห้องน้ำสาธารณะ ไม่ค่อยสะดวก

แม้ว่าถ้วยอนามัยจะมีวิธีใช้และการดูแลรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะในช่วงแรกของการใช้ แต่ในทางกลับกันก็ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยหากดูแลรักษาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติภายในช่องคลอด  อย่างเช่น รู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ แสบขณะปัสสาวะ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น หรือมีไข้ช่วงหลังจากการเปลี่ยนชนิดของผ้าอนามัย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

ข้อมูลและภาพจาก LadyCup, pobpad.com, honestdocs.co

บทความอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง