กรมอนามัยเตือน! 6 อาการอันตราย ในหน้าร้อน พร้อมแนะวิธีป้องกัน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนอาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในหน้าร้อน พร้อมเผยวิธีป้องกันดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชน เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิสูงมากขึ้น เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้ง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมไปจนถึงผู้ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง นักกรีฑาหรือผู้ที่เล่นกีฬาหนักๆ รวมทั้งทหารเกณฑ์ ไปอ่านวิธีป้องกัน และการดูแลสุขภาพกันค่ะ

แนะนำวิธีป้องกันจาก 6 อาการอันตรายในหน้าร้อน

1. ผื่นผิวหนัง

สาเหตุ: เกิดจากร่างกายขับเหงื่อออกมามากจนเกิดการอักเสบของรูขุมขนทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและเป็นตุ่มสีแดงหรือผื่นที่บริเวณหน้า ลำคอ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนม และขาหนีบ

วิธีช่วยเหลือ:  แนะนำให้อาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และทายาบริเวณที่เป็นผื่น

2. บวมที่ข้อเท้า

สาเหตุ: เกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้เกิดอาการบวมที่ขา โดยเฉพาะที่ข้อเท้า

วิธีช่วยเหลือ:  แนะนำให้พักผ่อน และนอน ยกขาสูง

3. ตะคริว

สาเหตุ: เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณขา แขน และท้อง ซึ่งพบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก

วิธีช่วยเหลือ: แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว นวดกล้ามเนื้อเบาๆ ประมาณ 1-2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป

4. เป็นลม

สาเหตุ: เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศที่ร้อนขึ้น เนื่องจากร่างกายพยายามขับความร้อนส่วนเกินออก โดยการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปที่ผิวหนังเป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ ทำให้เป็นลมหมดสติได้

วิธีช่วยเหลือ: คือให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าสูงกว่าลำตัว พัดโบกลมให้ถูกหน้า ลำตัว และให้ดมยาหม่องหรือยาดมอื่นๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้ไปพบแพทย์

5 เพลียแดด

สาเหตุ: สำคัญเกิดจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ที่สำคัญจำนวนมากไปกับเหงื่อเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ที่มีอาการเพลียแดดยังคงมีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และกระหายน้ำอย่างมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว แต่ยังคงมีสติอยู่

วิธีช่วยเหลือ: ให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ หากผู้ป่วยมีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที และ

6 โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)

เป็นโรคที่รุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

สาเหตุ: โรคนี่จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ อาการที่พบ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังแดง ร้อน เหงื่อไม่ออก สับสน หมดสติ และหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

วิธีช่วยเหลือ: ผู้ป่วยคือพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือในรถที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีความเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

ย้ำอีกครั้ง! คนที่เสี่ยงเป็น 6 โรค ในหน้าร้อน

เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมไปจนถึงผู้ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง นักกรีฑาหรือผู้ที่เล่นกีฬาหนักๆ รวมทั้งทหารเกณฑ์

ทั้งนี้ หากพบคนไม่สบายหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบโทรหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือติดต่อสายด่วนช่วยชีวิต 1669

ที่มา: กรมอนามัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง