‘ตะคริว’ ใครไม่เคยเป็นคงไม่เข้าใจว่ามันทรมานมากแค่ไหน บางคนเป็นตอนออกกำลังกายหนัก บางคนชอบเป็นตอนนอน มีคนนอนด้วยก็ดีไป เรียกให้ช่วยได้ แต่ใครโสด นอนคนเดียวเหงา ๆ ก็ลำบากนิดนึงนะ วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกคน ว่าตะคริว เกิดจากอะไรบ้าง แล้วมีวิธีป้องกัน รักษายังไง ไปดูกันได้เลย!
ตะคริว ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นแล้วทรมาน!
10 สาเหตุของตะคริว
1. ใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป เช่นการออกกำลังกาย ยกของหนัก
2. ร่างกายไม่สมบูรณ์ มวลกล้ามเนื้อลดลง
3. อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
4. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อย ร่างกายขาดน้ำ
5. ร่างกายขาดเกลือแร่ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม
6. มีสารพิษในกระแสเลือด เช่น ตะกั่ว ปรอท
7. ร่างกายขาดน้ำ
8. ภาวะที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบ
9. ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดตะคริวได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ
10. เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับ หากตับทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดสารพิษเข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกหรือหดเกร็งตัว หรือโรคไต ที่จะส่งผลให้ร่างกายขาดเกลือแร่
แต่ถ้าคุณเป็นตะคริวโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดจาก
– การทำงานของประสาทผิดปกติ ระหว่างการนอนหลับ
– การยับยั้งของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้น ๆ อย่างฉับพลัน
คนที่มีความเสี่ยงสูง
– ผู้สูงอายุ ที่กล้ามเนื้อเหลือน้อย เกิดความตึงเครียดได้ง่าย
– นักกีฬาที่อ่อนล้า และเสียเหงื่อมาก
– หญิงตั้งครรภ์
– ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท โรคตับหรือไทรอยด์ มีโอกาสสูงที่จะเกิดตะคริวได้
วิธีป้องกัน สำหรับคนที่ไม่อยากเป็นตะคริว
– ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
– ไม่ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์เยอะเกินไป
– เลือกทานอาหารที่มีแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียม โปแตสเซียม และแมกนีเซียม
– ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย
ถ้าเป็นตะคริวต้องทำไงอะ?
ตะคริว เป็นเอง ก็หายได้ (ด้วยตัว) เอง
– ประคบร้อน หรือประคบเย็น
– ใช้มือนวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่าจะคลายตัว
– ให้คนข้าง ๆ ช่วย โดยการนอนยกขาข้างที่เป็นตะคริวให้สูงตั้งฉากกับพื้น แล้วให้อีกคนช่วยดันขาให้กล้ามเนื้อน่องที่ตึงค่อย ๆ คลายลง
– ยืดกล้ามเนื้อด้วยตัวเอง ด้วยท่าต่อไปนี้
ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง เหยียดเท้าไปด้านหน้าและยกเท้าขึ้น ดัดข้อเท้าให้นิ้วเท้าเข้ามาทางหน้าแข้ง ค้างไว้ 1 – 2 นาที
เป็นตะคริวที่ต้นขา นั่งเหยียดขาตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงด้านล่าง ค้างไว้ 1 – 2 นาที
ถ้าเป็นตะคริวตอนนอนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองให้สูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว
การบริหารเพื่อป้องกันตะคริว เยืดกล้ามเนื้อวันละ 3 ครั้ง เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่องบ่อย ๆ ให้ยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร เอนตัวไปข้างหน้าให้มือแตะโดนกำแพง โดยวางเท้าให้แบนราบไปกะพื้น ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำไปเรื่อย ๆ ให้ครบ 5 นาที
ขอบคุณข้อมูลจาก: pobpad, medthai
Written by: Typrn