หลายคนที่ชอบอ่านพ๊อกเก็ตบุคเล่มเล็กๆคงเคยได้ยิน ชายมาจากดาวอังคาร หญิงมาจากดาวศุกร์กันบ้างแล้ว ซึ่งทีมงานกรมสุขภาพจิตก็เคยนำเสนอบทความดังกล่าวมาแล้ว พบว่าชายหญิงนั้นมีความแตกต่างกันที่นอกเหนือจากสรีระร่างกายแล้ว ในเรื่องความแตกต่างในเชิงวิธีคิดก็มีความต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพื่อยืนยันความแตกต่างกันในเชิงความสามารถของสมองก็มีเช่นกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
สมองของผู้หญิงและผู้ชาย
เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารชื่อดังเช่นไทม์ ฉบับ 28 มีนาคม 2549 กล่าวเน้นให้เห็นความเชื่อดังกล่าวข้างต้น ซึ่งก็กลายมาเป็นข้อจำกัดบางเรื่องของสาวๆและแม่บ้านทั้งหลาย ผู้เคยชินกับการที่ตัวเองมีความสามารถในการจัดการกับปัญหาต่างๆในบ้าน และหรือนอกบ้าน (ในที่ทำงาน)ได้อย่างละเมียดละไม เรียนรู้เรื่องภาษาได้อย่างรวดเร็ว มีทักษะด้านความจำที่เหนือกว่าหนุ่มๆหรือพ่อบ้านได้อย่างเป็นจินตภาพ แตกต่างจากหนุ่มๆหรือพ่อบ้านที่มักจะขาดทักษะในการแก้ปัญหาที่มีรายละเอียดมาก (หรือเมินในการจดจำเรื่องราวต่างๆ) แต่มีความถนัดในเรื่องวิศวะอิเลกทรอนิกซ์ เครื่องยนต์กลไก เพราะมีพื้นฐานทักษะทางคณิตศาสตร์ การบวกลบคูณหารที่ดีกว่า นั่นเป็นเพราะว่าโครงสร้างทางสมองของเพศหญิงแตกต่างจากสมองของเพศชาย
จริงหรือไม่มีหลายคนคงสงสัยเช่นกัน
จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง (neuroscientist) ที่ชื่อซานด้าน วิเทลสัน ได้ทุ่มเทเวลาศึกษาเรื่องสมองมนุษย์ โดยเฉพาะในประเด็นที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามไว้ในใจว่า “เหตุใดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงได้ฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก” การศึกษาครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงให้เธอในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นอย่างมาก ช่วงทศวรรษให้หลัง แซนด้าก็มีศึกษาหาคำตอบว่าปัจจัยให้สมองของเพศหญิงแตกต่างจากเพศชายเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อุปนิสัย อาหาร และยาที่ใช้
จากการศึกษาพบว่า เมื่อขณะที่เราเป็นเด็กนั้น โครงสร้างทางสมองของเด็กหญิงและเด็กชาย โดยเฉพาะทักษะความสามารถทางคณิตศาสตร์นั้นไม่มีความแตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วสมมติฐานนั้นจะเป็นเช่นเดิม โดยจากการศึกษาพบว่าความแตกต่างจะเริ่มปรากฎให้เห็นเมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยเรียนในระดับเกรด 4 (ก็คงวัยชั้นประถมในบ้านเรา) ก่อนที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆให้เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างเพศหญิงกับเพศชายมากยิ่งขึ้น โดยยืนยันได้จากผลการทดสอบ SAT (การทดสอบมาตรฐานทางคณิตศาสตร์) ที่เด็กวัยมัธยมบ้านเรารู้จักกันดีที่สัดส่วนคะแนนของเด็กหญิงจะได้น้อยกว่าเด็กชาย
อะไรที่บอกความแตกต่าง ทางโครงสร้างของสมองบ้าง
1. สมองส่วน Parietal Lobe แต่ก่อนมีความเชื่อว่าในเพศหญิงสมองส่วนนี้จะใหญ่กว่าเพศชายนั้น ไม่จริงเสียแล้ว
2. สมองส่วน Corpus Callosum ซึ่งเป็นส่วนที่เส้นประสาทสมองมีการเชื่อมต่อกันเพื่อให้เห็นพัฒนาการทางด้านความฉลาด จะเห็นการพัฒนาที่มีความแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย
3. สมองส่วน Prefrontal Cortex เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านความคิดที่จะพัฒนาต่อไปเป็นอารมณ์ ในเพศหญิงพบว่ามีการใช้สมองส่วนนี้ทำงานมากกว่า
4. อมิกดาลา (Aygdala) เป็นส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำที่ลึกลับซับซ้อน หรือเป็นส่วนที่บางคนจะบอกว่าเป็นความจำเจ็ดชั่วโคตร ในเพศชายที่มีทักษะความสามารถด้านการควบคุมอารมณ์ได้ดี จะมีเส้นประสาทสมองเชื่อมต่อกับสมองส่วนนี้น้อย (หรือจะยืนยันความเป็นจริงที่ว่า เพศชายเขามักจะมีความทรงจำอะไรๆได้ไม่ดีนักเพราะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้หรือเปล่า) ในขณะที่เพศหญิงที่มีทักษะทางด้านภาษาศาสตร์จะพบการเชื่อมต่อของเส้นประสาทสมองส่วนนี้มีมากขึ้น (ท่านชายทั้งหลายอย่ามองข้าม ตรงนี้ยืนยันได้ว่าความจำของสตรีในบางเรื่องเป็นความจำที่เป็นเลิศ นั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้)
5. Cerebellum หรือสมองส่วนท้าย ในสมองส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับทักษะทางการเรียนรู้ ดังเช่น ทักษะทางคณิตศาสตร์ ดนตรี และทักษะทางสังคม เช่นเดียวกับสมองในส่วนข้อ 2 คือ Corpus Callosum จะมีความแตกต่างกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย
จากการศึกษาของแซนด้ายังบอกอีกว่า จากโครงสร้างของสมอง โดยเฉพาะในส่วนของข้อ 3 Prefrontal Cortex (ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังหน้าผากจากมองมองสรีระภายนอก) ทำให้เพศชายเมื่อโตขึ้นจะมีความโผงผาง ดุดันกว่าเพศหญิง แถมเมื่อนานวันเข้า ก็มีโอกาสเสียเนื้อเยื่อที่ช่วยในการควบคุมตนเอง ขณะที่เพศหญิงกลับมีการพัฒนาเนื้อเยื่อในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เราเห็นการพัฒนาของสมองส่วนนี้จาก คุณแม่ คุณป้า คุณย่า คุณยาย ที่จะมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นตามวัย (จริงเท็จอย่างไรก็ลองกลับไปดูคนที่บ้านดูแล้วส่งข้อมูลยืนยันความเชื่อนี้แลกเปลี่ยนกันด้วยจะเป็นพระคุณ)
จากผลงานเรื่องนี้จึงเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดี เพื่อนำไปสู่การศึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆที่มีผลมากจากความผิดปกติของสมอง เช่น ออทิสติก อัลไซเมอร์ รวมไปถึงโรคจิตเภท ซึมเศร้า ช่วยเป็นแสงนำทางเราาไปสู่การป้องกัน รักษาโรคเหล่านี้ได้มากขึ้นในอนาคต
เร็วๆนี้มีตัวอย่างคนไข้รายหนึ่ง ที่เปิดเผยเพื่อเป็นกรณีศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเพลซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์ยอนห์ แวน เดอมิเต กล่าวว่า มีเด็กหญิงวัยประถมรายหนึ่งมาพบจิตแพทย์ด้วยปัญหาไม่สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ แต่เด็กมีทักษะทางภาษาศาสตร์ที่ดีมาก โดยเป็นตัวแทนชุมชนในการกล่าวสุนทรพจน์ เป็นนักพูด เรียนวรรณคดี และภาษาศาสตร์ได้ดี ตอนหลังครู ผู้ปกครอง และเด็ก ก็ร่วมกันหาทางออกโดยการเปลี่ยนวิธีการเรียนคณิตศาสตร์แบบปกติทั่วไป เป็นการเรียนโดยใช้สัญญลักษณ์เชิงภาษาศาสตร์ที่เด็กมีความชำนาญ คือสื่อสารในแบบที่เด็กเข้าใจ ซึ่งต่อมาเด็กก็สามารถเรียนคณิตศาสตร์จนสามารถสอบได้คะแนนดีเยี่ยมตามมาทีหลังได้
กล่าวโดยสรุป ความเชื่อที่ว่าความสามารถทางสมองของเด็กหญิงและชายนั้นมีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดคือวัยประถม เป็นสมมติฐานที่มีการศึกษามามากพอ แต่ในโลกยุคสมัยใหม่ที่มีการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง มีการวิจัยศึกษาและพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงการมีพฤติกรรมสุขภาพของแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ มีการอบรมเลี้ยงดูที่ดี ถึงแม้ว่าระหว่างเพศหญิงและชายจะมีลักษณะสมองที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะมองไม่เห็นแนวทางที่จะมีการส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในสิ่งที่เด็กไม่มีพื้นฐานความชำนาญให้มีขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่กล่าวถึงก็อาจจะเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองหลายคนได้เรียนรู้ว่า ลูกหลานของเราสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ให้ชำนาญขึ้นมาใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมเสริมต้นทุนที่เขาเหล่านั้นมีอยู่ให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไปอีก
ปัจจุบัน เราจึงเห็นว่าลูกสาว หลานสาวเราทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้สูสีกับเด็กผู้ชาย สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นวิศวะกร เป็นหมอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคณะที่เรามักจะเห็นกันเฉพาะเพศชายมากกว่าเพศหญิง เช่นคณะวิศวะกรรมศาสตร์ ไปถึงคณะวิทยาศาสาต์ทางด้านการแพทย์ ชีวะ เคมี วิทยาศาสตร์อื่นๆมากขึ้น ซึ่งเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการเรียนคณะดังกล่าวแม้แต่ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในประเทศเราเอง