เข้าสู่ฤดูร้อนของจริง และในปีนี้ประเทศไทยจะร้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดย อ.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ช่วงวันที่ 17-19 มีนาคม 2017 นี้ ประเทศไทยจะร้อนที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะมีมวลอากาศร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติในรอบ 50 ปี พัดเข้ามาปกคลุม อุณหภูมิอาจจะร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียส หากใครต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ ควรหลีกเหลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะเสี่ยงเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรกได้ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตกันเลยนะคะ วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับ โรคฮีทสโตรก พร้อมกับวิธีป้องกันมาบอกทุกคนค่ะ
รู้เท่าทัน โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) คืออะไร?
โรคฮีทสโตรก คือโรคที่เกิดกับร่างกายในภาวะที่ได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีผลทำให้สมองส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และทันท่วงที ส่งผลร้ายแรง ทำให้หัวใจหยุดเต้น ถึงขั้นเสียชีวิตได้
8 สัญญาณเตือนโรคฮีทสโตรก
- ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อนมาก (ถ้าร้อนแดดทั่วๆ ไปจะมีเหงื่อออก)
- ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้หน้าแดง
- รู้สึกกระหายน้ำเป็นอย่างมาก
- วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจเร็ว เกร็งกล้ามเนื้อ
- ชัก มึนงง มีอาการสับสน
- รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง
- อาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ และหัวใจเต้นเร็ว แต่แผ่วเบา ถ้าช่วยไม่ทันอาจะเสียชีวิต
ช่วยเหลือผู้เป็นโรคฮีทสโตรกอย่างไรให้ถูกวิธี
- ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดย การนำตัวเข้ามาในที่ร่ม
- จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว และศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
- หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก
- ผู้สูงอายุ
- เด็ก
- ผู้ที่อดนอน
- ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด
- ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน
- นักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม
วิธีป้องกันโรคฮีทสโตรก
1.ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน
2.ในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากมีเหตุจำเป็น ควรใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อผ้าเบาโปร่ง ไม่หนา ระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดี ทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง สวมหมวกด้วยก็ได้
3.หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ ให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
4.คนทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. เด็กเล็ก และคนชรา ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบาย ถ่ายเท ได้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก: รพ. เปาโล www.paolohospital.com, www.thaihealth.or.th, รายการเรื่องเล่าเช้านี้
ภาพ:.freepik.com