นำความรู้เกี่ยวกับข้อดีของการเดิน ที่บอกเราเลยว่าในการเดินตั้งแต่นาทีที่ 1-60 นั้นให้ประโยชน์กับร่างกายอย่างไรบ้าง เผื่อจะได้เป็นแรงและกำลังใจสำหรับผู้ที่อยากออกกำลังกายแต่ว่ายังหาแรงจูงใจไม่ได้ มาดูกันค่ะว่าเดินแต่ช่วงเวลานาทีนั้นดีอย่างไรบ้าง
การเดินแต่ละนาที ให้ประโยชน์กับร่างกายอย่างไร
มหัศจรรย์แห่งการเดิน
นาทีที่ 1 ถึง 5
ก้าวสองสามก้าวแรก จะกระตุ้นการปล่อยสารเคมีที่สร้างพลังงานภายในเซลล์เพื่อเป็นเชื้อให้กับการเดิน ชีพจรจะเร่งขึ้นเป็นราว 70 – 100ครั้งต่อนาที กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและให้ความอบอุ่นแก่กล้ามเนื้อ ไขข้อที่ฝืดและตึงจะคลายตัวลง เพราะข้อต่อจะปลดปล่อยของเหลวหล่อลื่นออกมา เพื่อให้การเคลื่อนไหวทำได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณเคลื่อนที่ไป ร่างกายจะเผาผลาญพลังงาน 5 แคลอรี่ต่อนาที เทียบกับเมื่อคุณพักจะเผาผลาญแค่ 1 แคลอรี่ต่อนาที ร่างกายของคุณต้องการเชื้อมากขึ้น จึงเริ่มดึงเอาคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้
นาทีที่ 6 ถึง 10
ชีพจรจะเต้นเร็วขึ้น ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 แคลอรี่ต่อนาทีเมื่อคุณก้าวเท้าได้มากขึ้น ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จะถูกต้านด้วยการปลดปล่อยสารเคมีที่จะช่วยขยายเส้นเลือด ทำให้เลือดและออกซิเจนเข้าสู้กล้ามเนื้อที่กำลังใช้งานมากขึ้น
นาทีที่ 11 – 20
อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เหงื่อเริ่มออกเมื่อเส้นเลือดส่วนที่ใกล้กับผิวหนังขยายขึ้นเริ่มปลดปล่อยความร้อนออกมา เมื่อคุณเดินได้แกร่งมากยิ่งขึ้น คุณจะเผาผลาญได้มากขึ้นไปจนถึง 7 แคลอรี่ต่อนาทีและหายใจเร็วขึ้น สารโฮโมนเช่น เอฟพะเนฟฟริน (epinephrine) และกลูคากอน (glucagon) จะถูกปลดปล่อยออกมามากขึ้น เพื่อเพิ่มเชื้อให้กับกล้ามเนื้อที่กำลังใช้งานอยู่
นาทีที่ 21 – 45
เมื่อรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น คุณจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อร่างกายลดความตึงเครียดลง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดีจำนวนหนึ่ง เช่น เอนดอร์ฟิน (endorphines) เพิ่มขึ้นในสมอง เมื่อไขมันถูกเผาผลาญมากขึ้น อินซูลิน (ซึ่งช่วยสะสมไขมัน)จะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคเบาหวาน
นาทีที่ 46 – 60
กล้ามเนื้อของคุณอาจจะรู้สึกเมื่อยล้าเมื่อปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ ลดลง เมื่อร่างกายของคุณเริ่มเย็นตัวลง ชีพจรจะเต้นช้าและหายใจช้าลง อัตราการเผาผลาญพลังงานจะลดน้อยลง แต่ก็ยังสูงกว่าตอนที่คุณเริ่มเดิน จำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญจะยังยืนระดับไปอีกราวหนึ่งชั่วโมง
ที่มา กรมอนามัย