ทำไมผมหงอกก่อนวัย – ผมหงอกแสดงถึงเซลล์ร่างกายที่เสื่อมลง

ชาวเอเชีย ฝรั่ง และแอฟริกันมีสีผมต่างกัน สีเหล่านี้เกิดจากเซลล์เมลาโนไซท์ผลิตเม็ดสีเมลานินได้สองโทนสี คือ เหลืองปนแดง และน้ำตาลปนดำ ซึ่งแต่ละเชื้อชาติจะผลิตสีออกมาในสัดส่วนที่แตกต่างกัน เมื่ออายุมากขึ้น รากผมค่อยๆ เสื่อม ทำให้ผมบางลง พร้อมกับเซลล์เมลาโนไซท์ผลิตเม็ดสีน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีขาวซึ่งเราเรียกว่า ผมหงอก

จากงานวิจัยพบว่า เมื่ออายุ 50 ปีคนส่วนใหญ่ มีผมหงอกไปครึ่งศีรษะแล้ว โดยฝรั่งผมเริ่มหงอกเร็วและลามไวกว่าคนเอเชีย และแอฟริกัน เพราะสีผมบลอนด์เกิดจากเม็ดสีเหลืองปนแดง ซึ่งใกล้เคียงกับสีขาวมากที่สุด เวลาเมลาโนไซท์หยุดสร้างสี จะพบว่าเส้นผมกลายเป็นสีขาวชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากชาติที่มีผมดำหรือน้ำตาลที่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นสีขาวในเวลาต่อมา

ทำไมผมหงอกก่อนวัย

ผมหงอกก่อนวัย

ผมหงอกแสดงถึงเซลล์ร่างกายเริ่มเสื่อมลงหรือเรียกสั้นๆ ว่า “เริ่มแก่” ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มอายุคาดหวังของประชากรโลกลดลงเรื่อยๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่หนุ่มสาวอายุเพิ่งยี่สิบก็มีผมหงอกแล้ว โดยทั่วไปผมจะเริ่มหงอกจากจอน ขมับ แล้วลามไปทั่วศีรษะ อาจเป็นเพราะหนังศีรษะแต่ละส่วน ทั้งด้านหน้า ตรงขมับ ด้านข้าง ด้านหลัง และกลางศีรษะ อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด แต่หากเปรียบเทียบทั้งร่างกาย จะพบว่าผมหงอกเริ่มที่ศีรษะก่อนแล้วค่อยลามไปที่เคราและขนตามร่างกายในเวลาต่อมา

ใครมีผมหงอกก่อนวัยได้บ้าง
ทายาทผมหงอก คนที่ได้รับถ่ายทอดยีนผมหงอกมาจากพ่อหรือแม่ หากพ่อแม่มีผมหงอกก่อนวัยก็เชื่อได้เลยว่าลูกมีสิทธิ์ผมหงอกตอนเป็นหนุ่มได้เช่นกัน

สิงห์นักสูบ  มีงานวิจัยว่าคนที่สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยจะมีผมหงอกก่อนคนที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารอนุมูลอิสระจากการเผาไหม้บุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เซลล์ทั่วร่างกายแก่เร็ว

เป็นโรคกระดูกพรุน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคใดโรคหนึ่งในสองโรคนี้ บ่งบอกถึงสัญญาณความชรามาเยี่ยมแล้ว

การรักษา

ไม่มีทั้งยารับประทานและยาทา ที่สามารถฟื้นคืนเซลล์สร้างเม็ดสีให้ทำงานปกติได้เลย แต่มีวิธีเดียวคือ เมื่อเริ่มรู้ว่ามีผมหงอกแค่เพียงเส้นเดียว ควรหันมาออกกำลังกายเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ควบคู่กับรับประทานผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน หลอดเลือดหัวใจ และชะลอวัยได้

วิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาผมหงอกก่อนวัย และอนาคตอาจมีการใช้ สเต็มเซลล์ ปลูกเซลล์รากผมที่ดีลงไปแทนได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นทดลอง หรืออาจใช้ ฮอร์โมนต้านความชรา แต่หากไม่ควบคุมปริมาณให้ดีอาจก่อมะเร็งได้ ต้องจับตาดูว่าทั้งสองวิธีนี้จะผ่านการรับรองจากวงการแพทย์เมื่อไร เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

อย่างไรเสียผมหงอกก็ยังเป็นผมที่แข็งแรงอยู่นะคะ หากรักษาให้เงางามก็ดูดีแบบผมสีดอกเลาได้เหมือนกัน

ขอบคุณนิตยสาร : Health & Cuisine
ปีที่ : 7     ฉบับที่ : 77     เดือน : มิถุนายน 2550

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง