การฟอกสีฟันคืออะไร ? ความรู้เกี่ยวกับการฟอกสีฟัน ยิ้มสวยด้วยมือหมอ

ปัจจุบัน ในคลินิกทันตกรรม และศูนย์ดูแลสุขภาพฟันแทบทุกแห่ง มีบริการ ‘ฟอกสีฟัน’ เป็นอีกทางเลือกให้คนที่อยากยิ้มพิมพ์ใจ สะกดผู้พบเห็นด้วยประกายขาวใสในปาก 32 ซี่นั้น ขณะที่โฆษณาสินค้าเพื่อสุขภาพในช่องปาก ทั้งน้ำยาบ้วนปาก เพื่อฟันขาว ยาสีฟันสูตรไวเทนนิ่ง จนถึงอุปกรณ์และน้ำยาในการฟอกสีฟันด้วยตัวเอง ซึ่งมีวางขายอยู่บ้างในท้องตลาด

ความรู้เกี่ยวกับ การฟอกสีฟัน

ฟันดี มีสุข

การดูแลรักษาฟัน เป็นไปทั้งเพื่อความสุขกายและสุขใจ ในกรณีของ ‘การฟอกสีฟัน’ หรือ tooth whithening อาจจะเป็นความสุขทางใจ ที่สื่อให้ผู้พบเห็นรู้สึกถึงสุขภาพที่ดี และการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเจ้าของฟัน

การฟอกสีฟัน ไม่ใช่การรักษาโรคแต่เป็นการทำทันตกรรมเพื่อความงามล้วนๆ เพื่อความสุขใจของคนทำเป็นหลัก” ทันตแพทย์หญิงกุศล ตันติวงส์ จากคลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง เผย

โดยปกติ ฟันขาวจะแมทช์กับสีตาขาวของแต่ละคน แต่บางคนฟันมีสีคล้ำ เห็นได้ชัด อาจจะอยากฟันขาวขึ้น เพื่อความมั่นใจขึ้น” ท.ญ.กุศล เล่าต่อ พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับกรรมวิธีทางการแพทย์ว่า

การฟอกสีฟัน มีส่วนช่วยให้ฟันสีคล้ำ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิเช่น คนที่ดื่มชา กาแฟ หรือสูบบุหรี่ ทิ้งคราบบนฟัน หรือคนที่ทานยาปฏิชีวนะ ประเภทที่มีตัวยา ‘เตตราไซคลิน’ ในปริมาณมากก็มีผลให้เนื้อฟันมีสีคล้ำด้วย

“เด็กบางคน ได้รับยานี้ตั้งแต่ตอนแม่ตั้งท้อง เมื่อแม่รับยาประเภทนี้ มันจะแทรกเข้าไปอยู่ในเนื้อฟันเด็กในท้อง ซึ่งกรณีแบบนี้ เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีฟันสีคล้ำกว่าปกติ และถ้ามีการทานยาปฏิชีวะนะมากๆ ก็จะยิ่งคล้ำ วิธีการฟอกสีฟันก็อาจจะช่วยให้ฟันขาวขึ้นบ้าง แต่จะขาวใสเลยไหม ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเนื้อฟันของแต่ละคน” ทันตแพทย์อธิบาย

 ยาปฏิชีวนะ ประเภทเตตราไซคลิน พบบ่อยในยาที่ใช้แก้ไข้หวัด หรือยาแก้โรคติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงยารักษาสิวด้วย

จำนวนการฟอกสีฟัน

“ถ้าฟันคล้ำมาก จะต้องฟอกต่อเนื่องหลายครั้ง ไม่ต่ำกว่าสองสามครั้ง ขึ้นอยู่กับเนื้อฟันคล้ำเข้มแค่ไหน ถ้าเข้มมากฟอกสีอาจไม่พอ ต้องใช้อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า การเคลือบหน้าฟันโดยใช้วัสดุ หรือ Veneering ซึ่งเป็นการใช้วัสดุทางการแพทย์ อาทิเช่น วัสดุพอร์ชเลน มาเคลือบผิวฟัน ก็ได้”

การทำ Veneering เป็นกรรมวิธีที่นิยมสำหรับฟันหน้า โดยการกรอฟันด้านนอกออกบางส่วนแล้วทำผิวฟันฉาบแทนใหม่ให้มีสีที่ขาวกว่าเดิม ด้วยวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้อุดในฟันหน้าที่เรียกว่า resin composite หรือด้วยวัสดุประเภท porcelain ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าแบบแรก (ข้อมูลจาก ศูนย์ทันตกรรมโรงพยาบาลกรุงเทพ)

วรดนู นิมนิต พนักงานบริษัทที่ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เคยผ่านการเคลือบหน้าฟัน หรือ veneering เผยว่า “ตอนเด็กทานยาปฏิชีวนะเยอะมั้งคะ ทำให้ฟันมันไม่ขาว และตอนนั้นอยากเป็นแอร์โฮสเตสก็เลยลองไปทำฟันขาวดู คุณหมอก็จะขูดเหมือนสะกิดผิวหน้าฟันออก แล้วก็ใช้วัสดุพอร์ชเลนมาปะไว้แทน ซึ่งก็ดีนะคะ ดูใสขึ้น ตอนนี้ยี่สิบปีแล้ว ฟันก็ยังโอเคอยู่ เรื่องความแข็งแรงก็ยังดี ขนาดเราเคยปั่นจักรยานล้ม ต้องเย็บบริเวณคาง แต่ไม่มีผลต่อฟันเลย อาจจะมีบ้างไม่ใส่เท่าเดิม แต่ก็ถือว่าโอเคนะคะ อีกอย่างตอนทำเราเป็นวัยรุ่นรักสวยรักงาม มีคนแนะนำว่าดีเราก็ไปทำ แต่ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ไม่ได้กังวลตรงนั้นมาก มีบ้างถ้าเราทานอะไรที่กะเทาะฟัน ก็จะระวัง เป็นพิเศษ เราไม่อยากให้ฟันมีปัญหาอยู่แล้ว”

แม้ทั้งสองวิธีจะช่วยให้ฟันขาวขึ้นเหมือนกัน แต่ความต่างในรายละเอียดอยู่ที่ การเคลือบหน้าฟัน จำเป็นต้องมีการกรอผิวฟันแต่ละซี่ที่จะทำการเคลือบก่อน ขณะที่การฟอกสีฟันไม่จำเป็นต้องกรอผิวฟันออก

ก่อนการฟอกสีฟัน

ทันตแพทย์จะเป็นผู้ดูความเหมาะสม โดยเทียบเฉดสีขาวในระดับต่างๆ ว่าจะฟอกได้ขาวแค่ไหน ถึงเฉดไหน ซึ่งโดยปกติทั้งคนไข้และหมอจะทำให้ได้ขาวที่สุด นั่นคือสีฟันแมทช์กับความขาวของตาขาว อย่างบางคนฟันเหลืองซีด แต่ตาขาวเขาค่อนข้างเหลือง มันก็ไม่ดูผิดปกติ แต่ถ้าคนไข้อยากได้ฟันขาวกว่านั้น ก็ต้องใช้น้ำยา และอยู่ที่คุณภาพของเครื่องมือในการฟอกสีฟันด้วย ผลลัพธ์บางคนอาจจะได้ขาวแบบทื่อๆ แต่ก็นั่นแหละ ขาวทื่อหรือไม่ทื่อ ก็ไม่มี significance (สำคัญเป็นพิเศษ) อะไร เพราะมันอยู่ที่ระดับความพอใจของคนไข้ โดยทันตแพทย์จะต้องคอยดูความเหมาะสมให้อยู่แล้ว” ท.ญ.กุศล กล่าว

ตามข้อมูลของศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ การทำให้ฟันขาวขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ การฟอกสีฟันเสมอไป สำหรับคนที่มีฟันคล้ำ ที่อาจจะเกิดจากสาเหตุการติดสีจากอาหารหรือบุหรี่ ซึ่งถือเป็นการติดสีภายนอกตัวฟันเท่านั้น สามารถแก้ไขได้โดยการขูดหินปูนและขัดฟัน

แต่ถ้าเป็นสีฟันเข้มจากภายในตัวฟันจึงจะใช้การฟอกสี สิ่งสำคัญ ต้องมีการเตรียมความพร้อมของช่องปากก่อนการฟอกสีฟัน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาฟันผุและโรคเหงือก ควรรักษาให้หายขาด รวมทั้งการขูดหินปูน และขัดคราบสีที่ผิวนอกของฟันให้สะอาดก่อน

งามอย่างปลอดภัย

แม้การฟอกสีฟันจะเป็นการเสริมความงาม ไม่เกี่ยวกับสุขภาพฟันโดยตรง แต่ก่อนการฟอกสีฟัน จำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากโดยรวมก่อนเสมอ

“สิ่งที่ควรระวังคือต้องให้หมอดูสุขภาพ ‘คอฟัน’ ก่อน ถ้าคอฟันสึก ต้องอุดให้เรียบร้อยก่อนฟอก ถ้าฟอกทันที น้ำยาที่ใช้ในการฟอกจะแทรกเข้าไปในเนื้อฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ร้ายแรงจนถึงขั้นทำลายเส้นประสาทฟัน และ ‘ฟันตาย’ ในที่สุด”

คำอธิบายสำหรับผลข้างเคียงจากการฟอกสีฟัน โดยไม่รักษาคอฟันที่มีปัญหาก่อนนั้น จนกระทั่ง’ฟันตาย’ หมายถึง ฟันที่หมดสภาพ และหากทิ้งไว้จะทำให้รากฟันเน่า จำเป็นต้องมีการรักษารากฟันในอีกขั้น

“ถ้าปล่อยไว้ มันจะเกิดตุ่ม หนอง หรือปวดมาก มีอาการถึงโพรงประสาทฟัน ทั้งปวดทั้งบวม ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมา หน้าจะบวมไปทั้งหน้าเลยทีเดียว” ทันตแพทย์กล่าว

เสียวฟันเกิดได้ ดูแลได้

“เคยเจอกรณีฟันสึก ซึ่งก็ต้องให้คนไข้รักษาฟันก่อนทำการฟอกสีฟัน ไม่ว่าจะด้วยหน้ำยาหรือแสงเลเซอร์ “ โดยท.ญ.กุศล ย้ำว่า หากอยากได้ฟันขาวสวยและดี จำเป็นมากถึงมากที่สุด ที่ต้องไปพบทันตแพทย์ และดำเนินการภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ เนื่องจาก “จำเป็นต้องมี ‘ถาดพิมพ์ปากเฉพาะบุคคล’ เพื่อปิดช่องที่น้ำยาอาจจะแทรกลงไปในจุดที่สุขภาพไม่ดีอยู่แล้ว การทำถาดพิมพ์ปากมันเป็นเฉพาะบุคคลอยู่แล้ว แต่ทางทันตแพทย์จะต้องส่งพิมพ์ไปทำในห้องแล็บทุกครั้ง”

กรณีที่กำลังอยู่ในกระบวนการฟอกสีฟัน ถ้ามีอาการเสียวฟันมากๆ ต้องหยุดการฟอกก่อน ควรไปพบทันตแพทย์ ซึ่งอาจจะให้สารพวกฟลูออไรด์มาใช้แทน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การฟอกสีฟันทุกแบบ จะมีโอกาสเสียวฟันได้ แต่มากน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพฟันของคนไข้ และคุณภาพของเครื่องมือและหมอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ไม่ควรสุ่มเสี่ยงใช้เอง หากจะใช้น้ำยาหรือฟอกสีฟันเองที่บ้าน จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ เพื่อตรวจดูส่วนผสมในน้ำยาแต่ละชนิด และดูความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เองด้วย

สวยได้ไม่ต้องพึ่งหมอ?

จากการที่มีสินค้า ‘เพื่อฟันขาว’ ออกวางขายและโฆษณาทั่วไปในท้องตลาด ทันตแพทย์แนะนำว่า ยังไม่มีบทพิสูจน์ว่าการใช้สินค้าดังกล่าวจะเห็นผล ฟันขาว ได้ชัดเจน อาจมีผลช่วยให้ฟันขาวขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพฟันของแต่ละคน ซึ่งอาจจะต้องการปริมาณน้ำยาและความเข้มข้นที่ต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาทันตแพทย์

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2546 ทาง คณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ได้ประกาศเตือนผู้บริโภค ที่จะซื้อหาผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันมาใช้เอง ให้ระวังอันตราย ที่อาจจะเกิดกับเหงือก ฟัน ช่องปาก และหากกลืนผลิตภัณฑ์เข้าไป จะมีผลต่อทางเดินอาหารด้วย

“จึงมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ และให้การใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทฟอกสีฟันไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปากที่มีปริมาณไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์มากกว่า 3.6 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปริมาณสูงสุด 35 เปอร์เซ็นต์ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟัน ต้องใช้โดยทันตแพทย์เท่านั้น” (ที่มาจาก ข่าว ‘อย.เตือนภัย “ฟอกสีฟัน” โดย นสพ.ข่าวสด)

อันตรายที่อาจเกิด เริ่มตั้งแต่เสียวฟัน การระคายเคืองต่อเหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปาก ส่งผลให้เหงือกซีดขาวชั่วคราว จนถึงบางรายมีแผลถลอก ปวดแสบปวดร้อนได้

โดย ท.ญ.กุศล เสริมว่า โอกาสที่จะเห็นผลฟันขาวจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีอยู่ แต่ความเข้มข้นของสารทำให้ฟันขาว อาจจะไม่เข้มข้นสักเท่าไร หากจะใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ควรมีการปรึกษาทันตแพทย์เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

การดูแลหลังฟอกสี

ฟันขาวขึ้นแน่นอน หลังผ่านการฟอกสี แต่ความคงทนซึ่งโดยปกติการปฏิบัติหนึ่งคอร์ส (นั่นหมายความว่า บางคนอาจจำเป็นต้องทำต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง) สามารถคงความขาวได้นานถึงสองปี แต่การจะขาวตามเฉดที่พอใจได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการกินอาหารเป็นสำคัญ

“หลังฟอกสีฟันหนึ่งสัปดาห์เป็นอย่างน้อย คนไข้ต้องลดอาหารที่มีสีทั้งหลาย อาทิเช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำมะเขือเทศ โอเลี้ยง และไวน์แดง ฯลฯ เพราะอาจจะทำให้ไม่เห็นผลเต็มประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์เสริมว่า หากมี การฟอกสีฟัน ครั้งแรกไปแล้ว การกลับมาฟอกครั้งใหม่ เมื่อเริ่มรู้สึกว่ารอยยิ้มเริ่มหมอง จะใช้เวลาสั้นลงกว่าเดิม นั่นคือฟอกเพียงไม่กี่ครั้งก็จะขาวใสขึ้นมาได้อีก

ส่วนความถี่ในการกลับมาฟอกสีฟัน เพื่อรักษาระยะยิ้มสวยขาวใสดังใจนั้น ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและอาการเสียวฟันมากน้อยของแต่ละคน

“บางคนอาจจะกลับมาขัดฟัน หรือพบแพทย์ตามนัดเป็นดีที่สุด” ทันตแพทย์หญิงกล่าวย้ำ

คุณวิกานดา ผู้จัดการร้านสปาแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยผ่านการฟอกสีฟัน ในแบบ vital bleaching ได้เผยถึงประสบการณ์ตรงว่า “ถามว่าดีขึ้นไหม ก็ดีขึ้นแต่สีของฟันอาจจะดูไม่เป็นธรรมชาติบ้าง คือ ขาวกว่าปกติ แต่ทิ้งไว้สักพัก สีจะดร็อปลง ดูเป็นธรรมชาติขึ้น”

วิกานดา ยังบอกอีกว่าความรู้สึกหลังการฟอกสีฟัน เปรียบได้กับ “เหมือนไปทำสีรถน่ะ ซึ่งฟันจะใสกว่าปกติเป็นธรรมดา”

“ดูแลลำบากไหม ก็ไม่มาก ดูแลแบบปกติ ไม่ต้องทำซ้ำ ยกเว้นว่าคุณดูแลฟันคุณไม่ดี ซึ่งกรณีนั้นคงต้องกลับไปทำใหม่ ถ้าคุณเป็นคนชอบสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟบ่อยๆ มันก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ไม่นานนี่ก็เป็นปีนะ”

อย่างไรก็ตาม วิกานดา เล่าว่า สำหรับการทำสีฟัน เบื้องต้นคือเพื่อเสริมบุคลิกให้มั่นใจ แต่การทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับกำลังใจและกำลังทรัพย์แต่ละคน เพราะสนนราคาในการฟอกสีฟันนั้น เริ่มต้นที่ 6,000 บาท สำหรับแบบใช้น้ำยา ขณะที่แบบใช้แสงเลเซอร์ ที่รับประกันความขาวใสได้ไวกว่านั้น อาจสูงหลักหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้นไป

การฟอกสีฟันคืออะไร

การฟอกสีฟัน (Vital Bleaching หรือ Tooth Whitening) เป็นการใช้สารปล่อยออกซิเจน ที่มีความเข้มข้นสูง ทาที่ฟันที่มีการเปลี่ยนสี ชุดน้ำยาฟอกสีฟันนี้ ได้แก่ สารพวกไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือคาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ การฟอกสีฟันนั้น เมื่อปล่อยไว้สักระยะ จะกลับเปลี่ยนสีได้อีก ต้องมีการทำซ้ำ

ปัจจุบันนอกจากการใช้น้ำยาฟอกแบบธรรมดาแล้วยังมี การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์ความยาวคลื่นเฉพาะ ทำงานร่วมกับเจลพิเศษซึ่งมีตัวรับพลังงาน สามารถเร่งปฏิกิริยาฟอกสีฟันให้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาในคลินิกประมาณ 30-45 นาที เปรียบเทียบกับแบบเดิมซึ่งฟอกสีฟันที่บ้านใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ความขาวในระดับใกล้เคียงกัน กลไกปฏิกิริยาเกิดจากสารพวกเปอร์ออกไซด์ แตกตัวให้ออกซิเจนอิสระเสถียรต่ำซึมผ่านชั้นเคลือบฟันทำปฏิกิริยากับสารโมเลกุลใหญ่สีเข้มในเนื้อฟัน ทำให้เกิดการแตกสลาย ตัวเป็นสารโมเลกุลเล็ก สีอ่อนลง หรือเป็นสารไม่มีสี ทำให้ฟันดูขาวใส เป็นธรรมชาติมากขึ้น

การฟอกสีฟันแบ่งตามกรรมวิธีได้ 2 อย่างคือ

1. in -office หมายถึง หมอทำการฟอกสีฟันให้ที่คลินิก ใช้เวลา ประมาณ 30-60 นาที

2. home bleaching หมายถึง หมอจ่ายยาฟอกสีฟัน ไปให้คนไข้ทำเองที่บ้าน โดยหมอจะต้องพิมพ์ฟันเพื่อทำถาดสำหรับฟอกสีฟันเฉพาะตัวให้ก่อน ความเข้มข้นของน้ำยาที่ใช้ฟอกสีฟันที่บ้านเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในร้านหมอฟัน แต่ความเข้มข้นจะต่ำกว่า และได้ผลช้ากว่า ทว่าราคาอาจจะถูกกว่า

ทันตแพทย์แนะนำให้ทำทั้ง 2 วิธีร่วมกัน โดยวิธี in-office จะช่วยทำให้ฟันขาวได้มากที่สุด ส่วนวิธี home bleaching ใช้เพื่อรักษาระดับความขาวไว้ให้ต่อเนื่อง

………………………………….

ข้อมูล เรียบเรียงจาก ศูนย์ทันตกรรมโรงพยาบาลกรุงเทพ และจาก www.thaihealth.or.th

ที่มาจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง