แพทย์เตือน! โรคหินปูนเกาะกระดูกหู ภัยสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม – อาจทำให้หูหนวกถาวรได้

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู หรือมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Otosclerosis สาเหตุเกิดจากกระดูกงอกขนาดเล็กยึดฐานของกระดูกโกลน (stapes) กับช่องรูปไข่ (oval window) ในหูชั้นกลาง

ภัยสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม โรคหินปูนเกาะกระดูกหู

ทำให้เสียงที่ผ่านเข้าทางช่องหูผ่านได้ยากขึ้น หรือไม่สามารถผ่านได้เลย เพราะฐานกระดูกโกลนนั้นได้ถูกยึดแน่นจากกระดูกงอกบริเวณช่องรูปไข่ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และยังทำให้เรามีอาการหูตึง หรือหูอื้อ ได้อีกด้วย

อาการของโรคที่ผู้ป่วยจะต้องเจอ…

สำหรับ อาการของโรคหินปูนเกาะกระดูกหูที่พบบ่อยสุด ๆ ก็คือ อาการหูอื้อ โดยคนที่เป็นจะมีอาการหูอื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การได้ยินลดลง ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ และอาจจะถึงขั้นหูหนวก ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงตะโกน บางรายอาจจะมีการวิงเวียนศีรษะหรือมีเสียงดังในหู โดยเริ่มจากหูข้างเดียวก่อนจนกระทั่งเป็นทั้งสองข้าง

การสูญเสียการได้ยินเป็นแบบการนำเสียงเสีย (conductive hearing loss) บางรายอาจมีการสูญเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสีย โดยจะเริ่มเสียที่ความถี่ต่ำก่อน ในเวลาต่อมาจะเสียที่ความถี่สูงต่อไป และไม่ได้ยินในที่สุด

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรค

  1. พ่อ-แม่ เคยมีประวัติว่าเคยเป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหูมาก่อน
  2. เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย
  3. มีอายุระหว่าง 30-40 ปี
  4. คนที่มีผิวขาวจะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่ผิวสีแทนหรือดำ
  5. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อมากขึ้นได้
  6. เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เป็นโรคหัด ฯลฯ

วิธีการรักษา

การรักษาอาการโรคหินปูนเกาะกระดูกหู สามารถทำได้ 2 แบบ คือ การใช้เครื่องช่วยฟัง (hearing aid) และการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงดีมากขึ้น

1. การใช้เครื่องช่วยฟัง (hearing aid) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินไม่มาก เครื่องช่วยฟังจะช่วยขยายเสียงที่ได้รับ ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น

2. กรณีการผ่าตัด คุณหมอจะทำการผ่าตัดเอากระดูกส่วนที่เป็นโรคออกไป (ซึ่งจะเป็นกระดูกโกลน) และทำการใส่วัสดุเทียมเข้าไปแทนที่ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งผ่านเสียงแทนกระดูกที่มีหินปูนยึดติดอยู่ ทำให้ผู้ป่วยกลับมากได้ยินเสียงเป็นปกติอีกครั้ง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดร้อยละ 50 ยังหายจากอาการเสียงดังในหูอีกด้วย (การผ่าตัดนั้นจะทำทีละข้าง โดยที่คุณหมอจะเลือกผ่าตัดหูข้างที่มีอาการหนักมากกว่าก่อน)

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังจากการผ่าตัด เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ มีอาการปากเบี้ยวเนื่องจากการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 การรับรสของลิ้นจะน้อยลง แผลผ่าตัดอาจติดเชื้อได้ ฯลฯ ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนที่เราได้กล่าวมาข้างต้นอาจจะขึ้นหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล

คุณหมอจะนัดมาดูแผลผ่าตัดภายในช่องหู 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยดึงวัสดุที่อยู่ในช่องหูชั้นนอกออก ตัดไหมที่แผล และจะนัดมาตรวจหลังผ่าตัดเป็นครั้งคราว เช่น นัดมาตรวจ 1 เดือน, 2 เดือน, ทุก ๆ 3 เดือนจนครบ 1 ปี และต่อไปจะนัดมาตรวจปีละครั้ง เพื่อเช็คอาการได้ยินว่าเป็นปกติหรือไม่

ข้อมูลจาก : www.rcot.orgwww.si.mahidol.ac.th,

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง