เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก แยกอย่างไร ว่าเป็นโรคหัวใจหรือโควิด-19

โรคเดียวที่พูดถึงกันไปทั่วโลกในขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ซึ่งเกิดจากเชื้อ SARS Coronavirus -2 มาตั้งแต่ปลายปี 2562โดยหนึ่งในอาการ หากติดเชื้อโควิด-19 คือ เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ซึ่งใกล้เคียงกับอาการของโรคหัวใจบางประเภทเรามาดูวิธีสังเกตอาการว่าจะแยกออกจากโรคหัวใจได้อย่างไร

เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก – โรคหัวใจ หรือโควิด-19

แยกอย่างไร?

อาการของการติดเชื้อโควิด-19

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า .. ทำความเข้าใจก่อนว่า อาการของการติดเชื้อโควิด-19 คือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีอาการที่ทางเดินหายใจส่วนบนเป็นอันดับแรก เช่น คัดจมูกน้ำมูกไหลไอเจ็บคอร่วมกับอาการไข้ จนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดตามข้อ

หลังจากนั้นอาการจะมีการเปลี่ยนแปลง และลุกลามไปจนถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือปอด จุดนี้ที่จะทำให้คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อย เกิดภาวะเมตาบอลิซึมสูง ร่วมกับการติดเชื้อในปอด ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง

คนไข้จะหายใจหอบ เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะมีความแตกต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบคืออาการเริ่มต้นจะไม่มีอาการของไข้หวัดมาก่อนโดยมากอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดตีบจะสัมพันธ์โดยตรงกับการออกแรงและออกกำลังกาย

อาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือน้ำท่วมปอด

ขณะที่อาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือน้ำท่วมปอด นั้น หากเกิดขึ้นจากภาวะน้ำเกิน จะไม่มีอาการเป็นไข้หวัดนำมาก่อนหรือร่วมด้วย แต่ลักษณะอาการของโรคหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้น จะเป็นตอนขณะที่นอนราบ และอาการจะมากขึ้นจนถึงนอนราบไม่ได้ นอนลงไปแล้วจะมีอาการไอต้องนอนหมอนสูงหลายใบ และหนักสุดคือนั่งหลับ เพราะนอนราบไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ควรระวัง คือ คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หากติดเชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจกำเริบ จนแยกอาการได้ค่อนข้างยาก

ผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อติดเชื้อโควิด-19

ผู้ป่วยโรคหัวใจ หากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตได้สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการ หากติดเชื้อ ไม่ได้เฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น แต่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ได้แก่อายุมากกว่า 65 ปีมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรังเดิม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับแข็ง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิม ล้วนแต่เป็นภาวะที่จะทำให้การติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้

ดังนั้นผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคได้โดยตรง การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว จะมีอาการแสดงมากขึ้น หลังจากติดเชื้อโควิด คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือล้มเหลว ถ้าได้รับเชื้อเข้าไป จะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเมตาบอลิซึมสูงขึ้น จนกระทั่งกระตุ้นให้โรคหัวใจล้มเหลวกำเริบ ติดเชื้อโควิดรุนแรง จนทำให้ไตวาย และไตไม่สามารถขับน้ำ ออกจากร่างกายได้ จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมปอด

ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

คำแนะนำที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ควรปฎิบัติ คือ

ผู้ป่วยโรคหัวใจสังเกตอาการของตนเอง

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 อาจต้องสังเกตอาการของตนเองอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น อาการที่คล้ายหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลไอเจ็บคอ ร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูงหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหั วปวดตามข้อ ควรจะต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลและเตรียมพร้อมที่จะมาตรวจเพื่อรักษาอาการตั้งแต่เริ่มต้น หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้ ในห้วงเวลาของการระบาดเชื้อโควิด -19 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ขอดูแลทุกคนด้วยความห่วงใย ภายใต้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

เนื้อหาโดย นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ

ภาพจาก unsplash.com

แนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง