มีหลายคนที่สงสัยอยากจัดฟัน อยากทราบค่าใช้จ่าย และต้อง เตรียมอะไรบ้าง ? ลองอ่านคำตอบที่เรานำมาฝากนี้กันนะ
3 เรื่องน่ารู้ ก่อนคิดจัดฟัน
1. ค่ารักษาทางทันตกรรมจัดฟัน
ได้ความรู้จาก รศ.ทญ.ปิยารัตน์ อภิวัฒนกุล ทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีข้อเขียนให้ความกระจ่างว่า ค่ารักษาทางทันตกรรมจัดฟันอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับ
1.ชนิดของเครื่องมือ
เครื่องมือแต่ละชนิดอาจมีความสามารถในการเคลื่อนฟันต่างกัน หรือสร้างจากวัสดุที่ต่างกัน และในบางครั้งผู้ป่วยคนหนึ่งอาจต้องใช้เครื่องมือมากชนิด กว่าผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง เช่น จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใส่ภายนอกปากเพิ่มเติมด้วย ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
2.ลักษณะความผิดปกติของผู้ป่วย
มีผลต่อขั้นตอนวิธีการและระยะเวลาในการรักษา ตามปกติผู้ป่วยที่สามารถแก้ไขได้ง่ายและรวดเร็วจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในรายที่ยุ่งยาก
และ
3.สถานที่ที่ให้บริการ
ตามปกติการจัดฟันตามสถานที่ราชการจะมีราคาน้อยกว่าเอกชน โดยเฉพาะถ้าการรักษาทำในเวลาราชการ เช่น ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟันจะคิดค่ารักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือชนิดติดแน่นในราคาประมาณรายละ 25,000 บาท หรือเครื่องมือถอดได้ในราคาประมาณ 15,000 บาท แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่าผู้ป่วยต้องยินยอมให้มีการศึกษาและปฏิบัติการโดยนิสิตทันตแพทย์ที่ขึ้นมาฝึกงานด้วย ราคานี้ไม่รวมถึงเครื่องมือพิเศษอื่นๆ และการปฏิบัติงานที่อาจต้องมีขึ้น เช่น ค่าเอกซเรย์ หรือค่าอุดฟัน ถอนฟัน ส่วนค่าจัดฟันของคลินิกนอกเวลาราชการของคณะ จะอยู่ที่ราคาประมาณรายละ 35,000-40,000 บาท
2. การจ่ายเงินสำหรับค่าจัดฟัน
ผู้ป่วยที่มาปรึกษาทางทันตกรรมจัดฟันครั้งแรก จะต้องจ่ายค่าพิมพ์ปาก ถ่ายรูป และค่าเอกซเรย์ เพื่อวิเคราะห์ถึงความผิดปกติและวางแผนการบำบัดรักษา เมื่อทันตแพทย์ได้อธิบายถึงความผิดปกติและวิธีการรักษาจนเป็นที่ตกลงกันแล้ว ทันตแพทย์หรือแผนกการเงินจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงราคาค่าจัดฟันทั้งหมด พร้อมทั้งวิธีการจ่ายเงินซึ่งตามปกติมักให้ผู้ป่วยแบ่งจ่ายเป็นงวด โดย 2-3 งวดแรกจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่างวดอื่นๆ เนื่องจากเป็นระยะของการใส่เครื่องมือจัดฟัน
3. การเตรียมตัวของคนที่อยากจัดฟัน
การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนทำการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.การเตรียมพร้อมของสภาพในช่องปาก
เนื่องจากสภาวะของฟัน เหงือกและกระดูกที่หุ้มรากฟันมีความสำคัญต่อการจัดฟันทั้งระหว่างการจัดฟันและภายหลังการจัดฟัน การเคลื่อนที่ของฟันจะเป็นไปได้ด้วยดีต่อเมื่อสภาพของฟัน เหงือกและกระดูกที่หุ้มรากฟันอยู่ในสภาพแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงจากเครื่องมือหรือการหยุดแรงโดยไม่จำเป็น เพราะอาจมีผลให้ระยะเวลาของการรักษาเนิ่นนานขึ้นหรือซับซ้อนมากขึ้น
ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องอุดฟันที่ผุทุกซี่ให้เสร็จสิ้นก่อนการใส่เครื่องมือจัดฟัน และให้ดูลักษณะที่บวมแดงของเหงือก หรือมีเลือดออกตามไรฟัน หรือหินปูนจับตามคอฟัน หรือฟันโยก ที่จะต้องรักษาให้หายก่อน และผู้ป่วยต้องศึกษาวิธีการแปรงฟัน การรักษาความสะอาดของช่องปาก เพราะเมื่อใส่เครื่องมือจัดฟันไปแล้วอาจทำให้การแปรงฟันยากขึ้น รวมทั้งแรงจากเครื่องมืออาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเหงือกและกระดูก อาจรู้สึกเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าแตะต้องหรือทำความสะอาดฟันบริเวณนั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง
2.ความพร้อมทางด้านสุขภาพโดยทั่วๆ ไป
ผู้ป่วยที่ต้องการจัดฟันควรมีสุขภาพดี ไม่มีโรคติดต่อหรือโรคประจำตัวอันอาจมีผลต่อการจัดฟัน เพราะการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำอาจมีผลต่อเหงือกหรือน้ำลายที่อยู่ในช่องปาก นอกจากนี้การได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะบริเวณของใบหน้าและศีรษะ การแพ้ยา การแพ้อาหารควรแจ้งให้ทันตแพทย์จัดฟันทราบก่อนเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาและการเลือกใช้เครื่องมือ
3.การเตรียมพร้อมด้านสภาวะทางสังคม
ได้แก่หน้าที่การงานและการสังคมของผู้ป่วย ว่าพร้อมจะใส่เครื่องมือจัดฟันแบบปกติ หรือต้องการเครื่องมือจัดฟันให้อยู่ทางด้านในปากโดยยึดติดกับฟันทางด้านใกล้สิ้น หรือเครื่องมือที่ติดกับฟันเป็นพลาสติกหรือเซรามิกที่มีสีเหมือนฟันแทนโลหะ หรือเครื่องมือชนิดถอดได้เพื่อให้ผู้ป่วยใส่และถอดได้เอง
น้าชาติ จากคอลัมน์ รู้ไปโม้ด nachart@yahoo.com นสพ.ข่าวสด