วิธีคุมกำเนิดทุกรูปแบบ ที่สาวๆ ควรศึกษาเพื่อตัวเอง – ข้อควรระวัง

ผู้ชายจะรู้ไว้ก็ไม่เสียหายค่ะ ศึกษาด้วยกันก่อนมีเพศสัมพันธ๋นะคะ เกี่ยวกับรูปแบบการคุมกำเนิดต่างๆ

วิธีคุมกำเนิดทุกรูปแบบ

1. แบบชั่วคราว

มีหลายวิธีการ ที่นิยมใช้กันคือ การนับวันที่ที่ปลอดภัยหรือที่ทั่วไปเรียกว่า “หน้า 7 หลัง 7” หมายถึงนับจากวันที่มีประจำเดือนคราวที่แล้ว โดยคาดว่าประจำเดือนจะมาอีกครั้งเป็นวันที่เท่าไร โดยนับถอยหลังไปช่วงก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 7 วัน และนับบวกเพิ่มต่อไปอีก 7 วัน เบ็ดเสร็จรวมกันเป็น 14 วัน นับเป็นช่วงที่ปลอดภัยเพราะช่วงนี้ผนังมดลูกจะลอกออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้ไข่ที่ผสมตัวแล้ว ไม่สามารถหาที่ฝังตัวเพื่อเจริญเป็นทารกต่อไปได้
วิธีนี้ได้ผลดีเมื่อมีรอบเดือนของคุณมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นรอบที่แน่นอน แต่เสี่ยงมากหากจำวันผิดพลาดถ้าไม่ได้มีการจดบันทึก ข้อควรระวังอีกอย่างคือ ช่วงที่มีประจำเดือนปากมดลูกจะเปิดเพื่อให้ขับเลือดออก ถ้ามีการร่วมเพศช่วงนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อทำให้มดลูกอักเสบ ได้มากกว่าช่วงปกติ เพราะฝ่ายชายอาจนำเอาเชื้อโรคภายนอก เข้าสู่โพรงมดลูกทำให้เกิดปัญหาได้

2. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดจะมี 2 แบบ คือ แบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด โดยแบบ 28 เม็ดมี 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นวิตามินและแร่ธาตุ มีไว้ให้รับประทานเพื่อกันลืม ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะมีข้อห้ามใช้ในบางคนที่มีโรคต่อไปนี้ ได้แก่ คุณผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องระดับไขมันสูง เส้นเลือดอุดตันที่สมองหรือหัวใจ คนตั้งครรภ์ คนที่เคยเป็นโรคตับหรือเคยตัวเหลือง เป็นมะเร็งเต้านม และคนที่มีเลือดออกจากช่องคลอดแบบผิดปกติที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นก่อนจะเลือกวิธีคุมกำเนิดชนิดนี้ขอแนะนำว่า ควรไปพบแพทย์เพื่อสอบถามรายละเอียดในแต่ละอาการโรคดังกล่าว

นอกจากนี้ผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ดอาจจะส่งผลให้มีอาการผลข้างเคียงของยาตามมาได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม เกิดเม็ดสีตามร่างกายหรือเกิดฝ้า

จะเลือกยาคุมกำเนิดชนิดไหนดี ?

จะเลือกยาคุมกำเนิดชนิดไหน ให้ขอคำปรึกษาได้จากเภสัชกรใจดีได้เลยครับ ส่วนเทคนิคการรับประทานควรจะทานเป็นเวลาเดียวกัน ทุกวันเพื่อกันลืม โดย เริ่มยาคุมกำเนิดเม็ดแรกภายในวันที่ 5 ของวันที่มีประจำเดือนมา

ข้อดีของวิธีนี้คือสะดวก หยุดยาไประยะหนึ่งก็สามารถมีบุตรได้อีก จึงเหมาะกับคู่สมรสใหม่ๆที่เพิ่งใช้ชีวิตร่วมกัน

3. การฉีดยา คุมกำเนิด

ในยาฉีดจะเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยฉีดทุกๆ 84 วันหรือ 12 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์กำหนด การใช้ยาฉีดอาจพบว่าประจำเดือนจะมาน้อยหรือขาดหายไป โดยฉพาะถ้าฉีดช่วงแรกๆ อาจพบมีประจำเดือนมากระปริบกระปรอย ผลจากยาฉีดทำให้ไข่ไม่ตก และอาจเกิดภาวะหมันชั่วคราวได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรมาแล้ว และผู้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ข้อห้ามยาฉีดเหมือนยารับประทาน การหยุดฉีดเพื่อให้มีบุตรต้องวางแผนล่วงหน้า 6-12 เดือน เพราะบางครั้งกว่าร่างกายจะปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนให้กลับสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลานาน

4. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (Norplant)

เป็นยาคุมที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ สามารถฝังได้บริเวณต้นแขนด้านใน ฮอร์โมนจะค่อยๆ กระจายสู่ร่างกายอย่างช้าๆ จะออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นานประมาณ 5 ปี จึงเหมาะสำหรับผู้มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือต้องการเว้นระยะห่างของการมีบุตรนานๆ

5. การใส่ห่วงอนามัย (IUD)

เป็นการคุมกำเนิดที่นิยมทำกันในกลุ่มแม่บ้าน ที่ต้องการคุมกำเนิดนานๆ อาจใส่หลังคลอดหรือช่วงประจำเดือนมา ห่วงสามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3 ปี หลังใส่อาจมีอาการปวดเกร็งท้องได้บ้าง ห่วงอนามัยไม่เหมาะกับคนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นมะเร็งหรือมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่บ่อย เพราะที่บริเวณต่อจากห่วงจะมีเชือกต่อออกมาบริเวณปากมดลูก ใช้เป็นตัวตรวจสอบสอบว่าห่วงยังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เชือกนี้จะเป็นจุดที่เชื้อเข้าสู่มดลูกได้ง่าย

คุณผู้หญิงที่ใส่ห่วงนอกจากตรวจสอบดูเชือกแล้วต้องได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง หรือเมื่อมีความปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องเกร็ง หรือคลำเชือกไม่พบ

6. การสวมถุงยางอนามัยสตรี (Diaphragm)

เป็นถุงยางที่ต่างจากของคุณผู้ชาย โดยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ให้คุณผู้หญิงสวมก่อนมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันออกแบบใช้สะดวกขึ้น ไม่รำคาญ ใช้ง่าย ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เหมาะสำหรับการคุมกำเนิด และป้องกันการติดเชื้อ

7. การสวมถุงยางอนามัยผู้ชาย (Condom)

เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่ายสะดวกและมีความปลอดภัย ในการป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เทคนิควิธีการใช้ต้องมีการพิจารณาถึงคุณภาพ และชนิดของถุงยาง โดยดูวันหมดอายุ การฉีกซองต้องระวังถุงยางจะรั่วขาด การสวมต้องขณะอวัยวะเพศชายแข็งตัว โดยบีบที่ปลายถุง แล้วสวมเพื่อให้ส่วนปลายเป็นที่รองรับน้ำอสุจิที่จะหลั่งออกมา ห้ามใช้วาสลินหรือน้ำมันเป็นสารหล่อลื่น แต่ให้ใช้เจลหรือน้ำแทน เมื่อใช้เสร็จการถอดต้องใช้กระดาษทิชชูพันรอบ แล้วดึงออกมานำทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ราคาไม่แพง

8. คุมกำเนิด แบบถาวร

ทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยส่วนใหญ่ในผู้หญิงมักจะทำหลังจากคลอดขณะอยู่โรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์แรก เรียกว่า หมันเปียก สะดวกสำหรับผู้ที่มีบุตรพอเพียง การผ่าตัดใช้เวลาไม่นาน โดยทำการผูกและตัดท่อนำไข่ การทำวิธีนี้อาจทำร่วมกับผ่าตัดช่องท้องอย่างอื่น หรือทำช่วงไหนก็ได้เรียกมันแห้ง

การทำหมันถาวรในผู้ชายโดยการตัดท่อนำอสุจิ ทำเวลาไหนก็ได้ที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง แผลเล็กใช้เวลาสั้น ประมาณ 20 นาทีก็เสร็จ หลังจากทำแล้วต้องชี้แจงให้ทราบว่า ยังคงมีเชื้ออสุจิค้างอยู่ในท่อนำน้ำเชื้อ จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น เช่นสวมถุงยางอนามัยในช่วงแรกๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 3 เดือน เพราะการสร้างเชื้ออสุจิใช้เวลาประมาณนั้น

9. คุมกำเนิด หลังร่วมเพศ

โดยการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูง เพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน ฮอร์โมนตัวนี้จะไปเพิ่มการเคลื่อนไหวและบีบตัวของมดลุกและท่อนำไข่ ทำให้การผสมกันระหว่างไข่ และเชื้ออสุจิเป็นไปได้ยาก ยากลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีได้แก่ ออพรอล (Ovral) โดยรับประทานครั้งเดียว 4 เม็ด หลังร่วมเพศ พบว่า มีผลคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ อาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อยมาก

ส่วนยาอีกตัวที่รู้จักกันดีคือ โพสตินอร์ (Postinor) มีปริมาณโปรเจสเตอโรนสูง แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน และควรใช้หลังร่วมเพศภายใน 3 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง ผลระยะยาวของยาตัวนี้คือ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของมดลูกได้

นอกจากนี้ยังมีการนำยาฉีดที่มีปริมาณโปรเจสเตอโรนสูงมาใช้โดยหวังผลการออกฤทธิ์ ทำให้เกิดภาวะเหมือนมีประจำเดือนคือ ผนังมดลูกลอกหลุด แบบช่วงมีประจำเดือน

การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ก็มีการนำมาใช้ โดยใส่ห่วงอนามัยภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ นับว่าป้องกันการตั้งครรภ์ก็ได้ผลดี

แหล่งข้อมูล

Oral Contraceptives, www.oralcontraceptives.com . Birth Control, Medline Plus , Oral Contraceptives, Medline Plus , ยาเม็ดคุมกำเนิด, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , ยาคุม คุมอย่างไรให้ปลอดภัย นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.168 July 2007, นพ.พิทยา จารุพูนผล www.elib-online.com, รู้จักวิธีคุมกำเนิด , นพ.วีระ สุรเศรณีวงศ์, มากมายคำถามกับยาคุม, แม่และเด็ก  ปีที่ 23 ฉบับที่ 341 กรกฎาคม 2543

ที่มาจาก oknation.net

คุมกำเนิด ภาษาอังกฤษ contraception

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง