5 วิธี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อม ความจำเสื่อม

วิธีการใช้ชีวิต วิธีการทาน วิธีการนอน วิธีการดูแลตัวเองของคุณ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อความจำและสมองของคุณอีกด้วย ถ้าคุณไม่อยากสมองเสื่อม ความจำเสื่อม จำคนที่คุณรักไม่ได้ตอนแก่ล่ะก็ คุณต้องเริ่มที่จะดูแลตัวเอง วันนี้ Campus-Star นำวิธีดีๆ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค หรืออาการเหล่านี้มาฝาก

5 วิธี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อม

1. ลด หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์

ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการความจำเสื่อม และโรคสมองเสื่อม คนที่ติดแอลกอฮอล์จะเริ่มมีปัญหาในเรื่องของความจำระยะสั้น หรือหนักกว่านั้นอาจจะเกิดภาวะผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า ภาวะทางสมองเหตุขาดวิตามิน บี 1 ซึ่งภาวะนี้อาจจะทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม สูญเสียความทรงจำแบบฉับพลัน ในบางกรณีอาจสูญเสียความทรงจำแบบถาวร

2. เลิกสูบบุหรี่

เข้าใจว่าพูดง่ายแต่ลงมือทำยาก แต่ถ้าตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลิกก็สามารถที่จะทำได้ ถ้าคุณรักตัวคุณเองและครอบครัว เริ่มจากการลดก่อนก็ได้ถ้ายังไม่สามารถหักดิบได้ อย่างที่หลายๆ คนรู้ว่าบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ปอด หรือช่องปาก แล้วรู้ไหมว่า คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 2 ซองต่อวันในช่วงวัยกลางคน มีความเสี่ยงมากกว่า 2 เท่าที่จะเกิดโรคสมองเสื่อมในตอนแก่ แต่อย่างไรก็ตามคนที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในช่วงวัยกลางคน หรือสูบน้อยกว่าครึ่งซองต่อวันจะมีความเสี่ยงเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่เลย ถ้าเลิกไม่ได้ก็ลองลดดูก่อนนะจ๊ะ แต่ถ้าเลิกได้ก็จะดีมากเลย ไม่เสียเงิน ไม่เสียสุขภาพ แถมยังทำให้คนที่รักภูมิใจอีกด้วย

3. จัดการกับความเครียด

เชื่อว่าทุกๆ คนต้องเผชิญปัญหาต่างๆ อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน งาน เงิน ครอบครัว หรือความรัก และถ้าคุณจะรู้สึกเครียดก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือแปลกอะไรเลย แต่ถ้าคุณไม่รู้จักรับมือ และจัดการกับความเครียดของคุณ จมอยู่กับความเครียด เมื่อนั้นปัญหาต่างๆ ก็จะเริ่มตามมา เช่น คุณจะไม่มีสมาธิและขาดสติในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งก็แน่นอนว่าผลที่ตามมาก็ไม่ใช่เรื่องดีอะไรเลย คุณอาจจะทำงานพลาด หรือเรียนไม่รู้เรื่อง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรมากนัก สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเลยก็คือปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ และ 1 ในนั้นก็คือ เกิดความผิดปกติของความจำ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน ฉะนั้นคุณควรที่จะเรียนรู้วิธีการรับมือกับความเครียดตัวร้าย เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ ปล่อยวาง หรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ กับคนรอบข้าง

4. ป้องกันศีรษะจากการบาดเจ็บ

การบาดเจ็บที่ศีรษะหรือสมอง เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดอาการความจำเสื่อม และเพิ่มโอกาสที่จะสมองเสื่อมได้ ฉะนั้นป้องกันศีรษะของคุณอยู่เสมอ ใส่อุปกรณ์ป้องกันให้ครบเมื่อไปเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม หรือกิจกรรมที่ใช้ความเร็วสูง เช่น ใส่หมวกันน็อคเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ จักยาน เล่นสกี เป็นต้น และควรจะคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เสมอเมื่อขึ้นรถยนต์ เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สมองกระทบกระเทือน

5. นอนหลับให้มีประสิทธิภาพ

คนที่นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทในเวลากลางคืน จะเกิดอาการขี้หลงขี้ลืมมากกว่าคนที่นอนหลับสนิทตลอดทั้งคืน เพราะการนอนหลับที่ดีเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานของสมองที่จะทำให้ความจำของเรานั้นมั่นคง ไม่หลงไม่ลืมนั่นเอง และคนส่วนใหญ่ที่มีการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ คือนอนหลับไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก เกิดจากอาการนอนไม่หลับ โชคร้ายที่ยานอนหลับส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง และอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของความจำ ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขอาการนอนไม่หลับ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวคุณเองก่อน เช่น ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน จัดห้องให้สะอาดน่านอน หรือไม่งีบหลับในเวลากลางวัน ถ้าคุณลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วแต่ก็ยังนอนไม่หลับ ค่อยใช้ยานอนหลับช่วย ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ และเมื่อใช้ควรที่จะใช้ยานอนหลับที่อ่อนที่สุด โดสน้อยที่สุด และทานในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ควรทานติดต่อกันนาน เมื่อสามารถนอนหลับได้เป็นปกติแล้วก็ควรเลิกใช้ยานอนหลับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.health.harvard.edu

บทความแนะนำ :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง