กรดไหลย้อน เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนในยุคนี้ ที่มีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ซึ่งอาจจะดูเป็นโรคที่ไม่มีอะไร แต่บอกเลยว่าเป็นแล้วทรมานสุด ๆ แถมยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย ลองไปดูกันดีกว่า ว่าอาการของโรคนี้ และวิธีที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นมีอะไรบ้าง
กรดไหลย้อน โรคของคนยุคใหม่
สังเกตอาการ
– มีอาการ heartburn แสบร้อนที่ยอดอก
– เรอบ่อย เรอเหม็นเปรี้ยว โดยเฉพาะตอนที่เพิ่งทานอาหารมื้อหนัก ๆ หรือตอนที่โน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย
– รู้สึกคลื่นไส้
– รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ กลืนอาหารแล้วเจ็บคอ
– เจ็บคอ หรือแสบลิ้น โดยเฉพาะในตอนเช้า
– มีเสมหะ หรือรู้สึกระคายคอตลอดอยู่ตลอดเวลา
– จุกแน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย
– เสียงแหบ
– ไอเรื้อรัง
– ฟันผุ มีกลิ่นปาก
เป็นกรดไหลย้อนต้องทำยังไง?
แบ่งกินมื้อเล็ก ๆ
อาหารมื้อใหญ่จะทำให้กระเพาะขยาย และเพิ่มแรงดันที่กระทำต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เพราะฉะนั้นควรจะแบ่งกินเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 – 6 มื้อต่อวัน จะช่วยป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป
ค่อย ๆ กิน ไม่ต้องรีบ
ถ้ากินเร็วเกินไป จะทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ อาหารไม่ย่อย เพิ่มโอกาสในการเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ควรจะเคี้ยวอาหารให้ละเอียด กินคำเล็ก ๆ
เลี่ยงอาหารต่อไปนี้
– อาหารที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ได้แก่ น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารทอด มันสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมเต็มมันเนย ช็อคโกแลต
– อาหารที่กระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะ ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอออล์ เครื่องดื่มมีคาเฟอีน อาหารรสจัด ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ
อย่ากินแล้วนอน
ไม่ต้องถึงกับหลับ แต่แค่ล้มตัวลงไปนอน ในขณะที่กระเพาะเต็มไปด้วยอาหาร จะทำให้อาหารในกระเพาะกดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และอาจจะทำให้อาหารไหลย้อนขึ้นไปได้
หัวสูงเข้าไว้
การนอนหงายราบจะทำให้อาหารในกระเพาะ ไปกดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง การนอนหัวสูงจะทำให้มีแรงโน้มถ่วงที่ช่วยลดแรงกดดังกล่าว
ไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาน้อยลง ซึ่งน้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่างที่สามารถช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ ยังเพิ่มการสร้างกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย
ไม่ดื่มหนัก
แอลกอฮอล์เป็นตัวการสำคัญที่ไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ดื่มแค่เบา ๆ พอนะ
อย่าเครียด
อาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรง แต่ความเครียดเป้นตัวการที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่กระตุ้นอาการกรดไหลย้อนได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: honestdocs, bumrungrad