โรคกรดไหลย้อน

จุกแน่น เรอบ่อย ขมในคอ ระวังกรดไหลย้อน

Home / สุขภาพทั่วไป / จุกแน่น เรอบ่อย ขมในคอ ระวังกรดไหลย้อน

ใครที่ชอบกินอาหารมื้อดึกๆ แล้วเข้านอนทันที หรือคนที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม บ่อยๆ หากมีอาการจุกแน่น ปวดแสบร้อนหน้าอก อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรม และอาการอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนอีก  วันนี้มีสาระความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ

โรคกรดไหลย้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

กรดไหลย้อนเป็นโรคที่น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปที่หลอดอาหาร เนื่องจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ

ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

อาการโรคกรดไหลย้อน

  • อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย
  • มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ
  • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
  • ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง
  • หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ

การป้องกันหรือหลีกเลี่ยง

  • ควรกินอาหารให้ตรงเวลา
  • ไม่เข้านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จโดยควรทิ้งเวลาหลังอาหารเย็นอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ลดการกินอาหารทอดอมน้ำมันและอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัดเปรี้ยวจัดเค็มจัด ควรงดผลไม้ที่มีความเป็นกรด เช่น ส้ม มะนาว และผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ เครื่องเทศ พริกไทย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ น้ำอัดลม กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไป เพราะจะเพิ่มความดันในช่องท้อง
  • หากอาการหนักแพทย์จะให้กินยาลดกรดในกระเพาะอาหาร การปรับระดับหัวเตียงสูงขึ้นก็สามารถช่วยบรรเทาการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้

ข้อมูลจาก: www.bumrungrad.com, สสส