การวิจัย นวัตกรรม สำลัก แก้วน้ำ

“แก้วน้ำกันสำลัก” นวัตกรรมจุฬาฯ ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

Home / สุขภาพทั่วไป / “แก้วน้ำกันสำลัก” นวัตกรรมจุฬาฯ ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

แพทย์จุฬาฯ ออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก คำนวณมุมการไหลของน้ำ ปริมาณ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วถึงริมฝีปากผู้ป่วย หวังลดอัตราการสำลักที่อาจนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ให้ผู้ดูแลสบายใจ ผู้ป่วยปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต

“แก้วน้ำกันสำลัก”

สำลัก ปัญหาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น การสำลักในผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ในที่สุด ปัญหาการสำลักจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรมองข้าม

“เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการกลืนยาก และสำลักง่ายมาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินช้า ๆ ดื่มช้า ๆ ก้มคอแล้วค่อยกลืนอย่างมีสมาธิ และหมั่นฝึกกล้ามเนื้อคอเป็นประจำ — ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่มีผู้ป่วยไม่ถึงครึ่งที่สามารถทำได้ เพราะเรามักกินดื่มแบบที่เราเคยชินจนเสี่ยงเกิดการสำลักตามมาบ่อย ๆ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สะท้อนปัญหาการสำลักในผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคระบบประสาท

“ในเมื่อผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินยาก เราจึงหาวิธีอื่นเพื่อช่วยควบคู่กันไปด้วย โดยศึกษาจากพฤติกรรมการดื่มน้ำปกติ เมื่อน้ำไหลมาแตะริมผีปาก เราจะเงยคอขึ้น มาเป็นฐานในการพัฒนาแก้วน้ำกันสำลัก”

อาการสำลัก อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

คนเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ “สำลัก” น้ำและอาหารกันได้ แต่ก็มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมักไม่อันตรายมากนัก (หากแก้อาการและได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที) แต่อาการสำลักที่น่าห่วงใยและเราควรใส่ใจเป็นพิเศษคือการสำลักที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้มีอาการกล้ามเนื้อคออ่อนแรง ผู้ป่วยระบบประสาทที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เช่น คนไข้โรคพาร์กินสัน และผู้มีภาวะกลืนยาก (1 ใน 3 ของผู้สูงวัยมีภาวะกลืนยาก และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคทางสมองมีภาวะกลืนยาก)

“ผู้สูงวัยบางรายมีปัญหาเรื่องการกลืนยากและมีความเสี่ยงที่จะสำลักสูง จนแพทย์วินิจฉัยว่า เขาถึงจุดที่ควรใส่สายให้อาหารทางจมูก หรือเจาะหน้าท้องให้อาหารได้แล้ว แต่ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่กลัวการทำแบบนี้ และมักให้เหตุผลว่า สงสารผู้สูงวัย แต่ความสงสารนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบาย

“ปัญหาหนึ่งของผู้สูงวัย คือ การกลืนไม่หมด มีการตกค้างของเศษอาหารในช่องปาก ยกตัวอย่าง อาหารหนึ่งคำ จะมีทั้งข้าวและกับข้าว ซึ่งผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอาจกลืนให้หมดไม่ได้ในครั้งเดียว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ดูแลบอกให้ผู้ป่วยกลืนซ้ำรอบที่ 2 หรือบางคนอาจต้องกลืนซ้ำเป็นรอบที่ 3 เพื่อกลืนอาหารให้หมด นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังต้องตรวจสอบในช่องปากผู้ป่วยทุกครั้งด้วยว่ามีเศษอาหารหลงเหลืออยู่หรือไม่ เพราะหากมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ในช่องปาก มันจะทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ในภายหลัง”

การสำลักภายหลัง (Delay Aspiration) อาจเกิดเพียงไม่กี่นาทีหลังจากการกลืนอาหาร แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ภายหลังการรับประทานอาหารในช่วง 1 ชั่วโมงได้เช่นกัน

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายให้เห็นภาพอาการสำลักภายหลังว่า “มันจะคล้าย ๆ กับกลืนอาหารจนหมดแล้ว แต่จริง ๆ ยังแอบมีเศษอาหารหลงติดอยู่ในช่องปาก เมื่อผู้ป่วยนอนหงาย เศษอาหารก็จะตกลงมา ทำให้มีอาการไอ และสำลักตามมา”

นอกจากนี้ ยังมี อาการสำลักเงียบ (Silence Aspiration) หมายถึงการสำลักแบบไม่มีอาการไอ ไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เศษอาหารเล็ก ๆ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรีย ในช่องปากได้ไหลลงในหลอดลมเรียบร้อย จนเป็นสาเหตุทำให้ปอดติดเชื้อ ปอดบวม ผู้ป่วยจะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นก็ต่อเมื่องเกิดอาการรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ เช่น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก จนต้องเข้าโรงพยาบาล

กลืนอย่างไร ไม่สำลัก ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการสำลัก และภาวะกลืนยากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งผู้ดูแลต้องใจเย็นและเอาใจใส่เป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้

1. ชวนผู้ป่วยขยับกล้ามเนื้อบริเวณปากและคอเป็นประจำ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เช่น บริหารกล้ามเนื้อคอ โดยใช้ท่าก้มเงยศรีษะช้าๆ ท่าเอียงศรีษะไปทางซ้าย-ขวา แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง และบริหารกล้ามเนื้อปาก โดยออกเสียงอา อู อี โอ เอ ค้างไว้เสียงละ 5 วินาที ทำซ้ำเสียงละ 5 ครั้ง เป็นต้น

2. ดูแลให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ตั้งใจรับประทานอาหารและกลืนอาหารให้หมด ในขณะรับประทานหรือดื่มน้ำ ต้องไม่คุย ไม่ดูโทรทัศน์ หรือไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะทำให้เสียสมาธิขณะรับประทาน และจะทำให้ประสิทธิภาพในการกลืนลดลง เสี่ยงกับการสำลัก

3. แนะนำให้ผู้ป่วยก้มหน้าในขณะกลืน (Chin tuck maneuver) เมื่ออาหารเข้าปากแล้ว ให้เคี้ยวให้เสร็จเรียบร้อย และเมื่อจะกลืนต้องก้มคอ คางชิดหน้าอก แล้วค่อยกลืนเพื่อลดโอกาสสำลัก

4. สังเกตพฤติกรรมการกินของผู้ป่วย หากผู้ป่วยทำท่าจะลืมข้อแนะนำที่ให้ก้มหน้าขณะกลืน ผู้ดูแลต้องดันศีรษะผู้ป่วยให้ถูกจังหวะ คางชิดอก แล้วบอกให้ผู้ป่วยกลืนอาหาร

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าผู้ป่วยและผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำดังกล่าวและฝึกปฏิบัติจากนักฝึกกลืนที่โรงพยาบาล แต่ปัญหาที่มักพบเสมอ ๆ คือเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน พฤติกรรมการกลืนก็กลับไปเหมือนเดิม

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทำได้แค่ตอนมาฝึกการกลืนร่วมกับนักฝึกกลืนที่โรงพยาบาล พอกลับบ้านไป ก็ไม่ได้ปรับพฤติกรรมการกินตามที่แพทย์กำชับ มีผู้ป่วยน้อยรายเท่านั้นที่ทำได้ อีกอย่างคือโรคประจำตัวบางโรคก็เป็นอุปสรรค เช่น โรคพาร์กินสัน และผู้ที่มีภาวะ Stroke กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดเลือดตีบ ที่ทำให้การกลืนยากขึ้น”

แก้วน้ำกันสำลัก ตัวช่วยให้กลืนง่าย ลดโอกาสสำลัก

เมื่อการปรับพฤติกรรมด้วยการฝึกกลืนเป็นโจทย์ยากของทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแล ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนา “แก้วน้ำกันสำลัก” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย

“เราออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดื่มน้ำ กลืนน้ำในขณะที่หลอดอาหารอยู่ในตำแหน่งที่ดี และหลอดลมปิดอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลัก”

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าแก้วน้ำกันสำลัก ผลิตด้วยวัสดุประเภทเดียวกับขวดนมของเด็กทารก ดีไซน์ให้เหมือนแก้วน้ำปกติทั่วไป และใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากดื่มน้ำมากขึ้น

“เราไม่ต้องการให้ผู้ใช้และคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ที่ใช้แก้วน้ำนี้เป็นผู้ป่วย ที่กำลังใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ จึงดีไซน์ให้แก้วน้ำดูกลมกลืนกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถพกไปใช้ที่ไหนก็ได้” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายแนวคิดในการดีไซน์ “แก้วน้ำกันสำลัก”

แม้ภายนอกจะดูไม่แตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป แต่ภายในมีกลไกพิเศษเพื่อกันการสำลัก ที่ทีมวิจัยได้ศึกษาและคำนวณอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมุมการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วมาถึงริมผีปากผู้ใช้งานที่เหมาะสม

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายคุณสมบัติพิเศษของแก้วน้ำว่า “แก้วน้ำนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องเงยคอ เพราะการที่ผู้สูงวัยไม่ต้องเงยคอ จะช่วยลดการสำลักลงได้มาก และที่สำคัญ แก้วน้ำกันสำลักนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำต่อการดื่มแต่ละครั้งให้ไม่มากจนเกินไป และกำหนดเวลาในการดื่มให้ไม่เร็วเกินไปได้ ด้วยปริมาณการดื่มที่เหมาะสม มุมที่เหมาะสม ท่าดื่มที่เหมาะสม เวลาดื่มที่ไม่เร็วจนเกินไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยสำลักน้อยลง”

นอกจากนี้ แก้วน้ำกันสำลักยังมีดีไซน์พิเศษ เพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย

“หูของแก้วน้ำมีลักษณะนูนขึ้นมา เพื่อช่วยคนไข้พาร์กินสันที่มีภาวะเกร็งกำมือได้ไม่สุด สามารถจับแก้วน้ำได้ถนัด มั่นคง และมั่นใจในการดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น”

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าสำหรับคนไข้พาร์กินสันที่มีอาการเกร็ง ช้า สั่น ควรกินยาโรคพาร์กินสันก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะเมื่อยาออกฤทธิ์ดี คนไข้จะมีอาการสั่นน้อยลง เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีเกือบเป็นปกติ ลดโอกาสการสำลักลงได้

ทดสอบใช้จริง “แก้วน้ำกันสำลัก” ก่อนต่อยอดการผลิต

ปัจจุบัน แก้วน้ำกันสำลักยังเป็นต้นแบบ (Prototype) ที่ผ่านการวิจัยขั้นแรก และกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยทดสอบ (Testing) กับผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ทั้งคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล และคนไข้ที่นำแก้วน้ำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการติดเครื่องเซนเซอร์จับพฤติกรรมขณะดื่มน้ำไว้

“เราต้องการรู้ว่าเมื่อผู้ใช้ได้ดื่มน้ำผ่านแก้วน้ำนี้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีแพทย์ หรือพยาบาลคอยควบคุมดูแลแล้ว แก้วน้ำนี้จะสามารถลดการสำลักได้ในระดับใด โดยจะประมวลผลการใช้งานจริงทั้งหมดนี้ นำมาพัฒนาดีไซน์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แล้วจึงต่อยอดการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป”

นอกจากพัฒนาการใช้งานแล้ว ในขั้นตอนการทดสอบนี้ ทีมวิจัยจะได้แก้ไขข้อจำกัดบางอย่างด้วย โดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาด เนื่องจากดีไซน์ของแก้วน้ำมีลักษณะเป็นชิ้นเดียว ภายในแก้วน้ำถูกออกแบบให้มีตัวกั้นน้ำ มีมุมลาดเอียงที่คำนวณการปริมาณไหลของน้ำไว้ จึงอาจทำให้ทำความสะอาดยากตามซอกมุมเหล่านี้

“ที่สุดแล้ว ทีมวิจัยหวังว่า “แก้วน้ำกันสำลัก” ที่เราตั้งใจออกแบบและพัฒนา จะช่วยผู้ใช้ให้สามารถกินอาหาร 3 มื้อต่อวันได้อย่างมีความสุข ดื่มน้ำได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะสำลัก” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวิจัยแก้วน้ำกันสำลัก สามารถติดต่อได้ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึก ผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7 โทร 0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 08-1107-9999 Website: chulapd.org

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา