วิธีเลิกยา ของคนติดยาเสพติด | แม้จะทรมานแต่มันจะผ่านไปได้

สำหรับผู้ที่เคยหลงผิดไปไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และคิดที่กำลังจะเลิก หรืออยู่ในช่วงของการเลิกยา แม้คุณอาจจะรู้สึกทรมาน แต่ในเมื่อคุณมีสติและกลับมาคิดได้แล้วว่ามันมีอันตราย มีแต่ผลเสีย ทั้งต่อร่างกาย จิตใจของคุณเอง และคนที่รักคุณ  ขอให้คุณแข็งใจอดทนและคุณจะสามารถผ่านไปได้ บทความนี้เรามีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการแนะนำวิธีการเลิกยา คนในครอบครัวของผู้ที่เสพควรอ่านไว้ด้วยเช่นกันนะคะ เพื่อที่จะได้เข้าใจอาการ และช่วยให้การเลิกยาของผู้ที่เคยเสพสำเร็จไปได้

ต้องทำยังไง เมื่อจะเลิกยา วิธีเลิกยาเสพติด

คนใกล้ตัวของผู้เสพก็ควรรู้ไว้

สำหรับผู้ที่ติดยาเสพติด และคิดที่กำลังจะเลิก หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการหยุดยา ก่อนที่คุณจะผ่านไปถึงจุดหมายสู่การหลุดพ้นจากยาเสพติดได้นั้น คุณจะต้องเจอกับอาการอยากยาเสพติด และอาหารขาดยาหรือลงแดง

อาการอยากยาเสพติดคือ อาการที่เกิดกับผู้ติดยาเสพติดหลังหยุดเสพยาเสพติด เป็นภาวะที่ถูกกระตุ้นจากความรู้สึกภายใน หรือถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม และจะมีผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย โดยจะมีอาการผิดปกติ เช่น อาการกระสับกระส่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วแรง ปวดท้อง จาม มือเย็น น้ำมูกไหล ร้อนใน ปวดฟัน ปวดหัว มีความรู้สึกไม่สุขสบายกาย ความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น หงุดหงิด กลัว อารมณ์เสีย โกรธง่าย โมโหง่าย กระวนกระวายใจ เปรี้ยวปาก จนบางคนทนอาการไม่ได้

ส่วนอาการขาดยาเสพติด หรือลงแดง จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณยาเสพติดที่เคยใช้ลดลง (นั่นเป็นเพราะคุณเคยเสพและลดปริมาณการเสพลง) โดยอาจเป็นความรู้สึกอยากยาในสมอง แต่แสดงอาการออกมาเป็นอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามชนิดของยาเสพติด เช่น ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดท้อง เพลีย นอนไม่หลับ เครียด หงุดหงิด ถ่ายเหลว ชัก คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจลงแดง เป็นต้น

โดยอาการทั้งหมดไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไรถึงจะหาย ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ และร่างกายในการปรับระบบสื่อเคมีในสมองด้วย ว่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติเมื่อหยุดเสพได้เมื่อไร หากจัดการตามวิธีอย่างเคร่งครัดก็อาจจะเป็นปกติได้เร็ว

อาการอยากยา จัดการอย่างไร

– ควบคุมจิตใจ

ทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยต้องรู้จักอ่านใจตนเอง ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการอยากยาและหลบเลี่ยง อดทน

– หยุดความคิดทันทีที่เริ่มคิดถึงยาเสพติด

หรือเมื่อเริ่มมีอาการอยากยา โดยวิธี การนึกถึงภาพหรือเหตุการณ์ความสุขที่ตนเองเคยได้รับให้เกิดขึ้นในใจแทนที่การคิดถึงยาเสพติด การดีดหนังยางแรงๆและบอกตนเองว่า “ไม่” การฝึกผ่อนคลาย โดยหายใจเข้าลึกๆให้เต็มปอดและหายใจออกช้าๆจนรู้สึกผ่อนคลาย การโทรศัพท์หาใครบางคนที่สามารถให้กำลังใจเราได้

– เบี่ยงเบนความรู้สึกไปสู่สิ่งอื่น

โดยเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข เกิดอาการผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ พูดคุยกับเพื่อน ทำกิจกรรมนันทนาการ เช่น ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ หางานอดิเรกทำ

– ใช้วิธีเข้าบำบัดรักษา

ซึ่งจะได้รับยารักษาตามอาการเพื่อลดความทรมานจากอาการขาดยาและจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

ครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยเลิกยาอย่างไร

– ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ

สมาชิกในครอบครัวถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถช่วยให้ผู้ที่กำลังเลิกยาผ่านพ้นไปได้ ทุกคนต้องพยายามทำความเข้าใจ สังเกตอาการ และคอยถามถึงความรู้สึก

– ไม่ตำหนิเมื่อมีอาการอยากยา

อาการที่เกิดขึ้นของผู้เสพในช่วงระหว่างเลิกยา อาจมีอาการที่ทำให้คุณเห็นแล้วรู้สึกไม่พอใจ โมโห เสียใจปะปนกันไปหมด แต่คนในครอบครัวต้องมีสติ และใจเย็น อย่าไปตำหนิ พูดจาร้ายๆ ใส่ผู้ป่วย เพราะจะกลายเป็นบั่นทอนความรู้สึกของผู้ป่วย

– ให้กำลังใจ คือยาวิเศษ 

เมื่อผู้ป่วยมีอาการอยากยา อย่าทิ้งให้เขาต้องอยู่คนเดียว คอยอยู่เป็นเพื่อนเขาในขณะที่เกิดอาการอยากยา คอยพูดให้กำลังใจ คอยกอดเขาไว้

– พูดชื่นชม

พูดชื่นชมผู้ป่วย ในแต่ละครั้งที่สามารถต่อสู้ กับอาการอยากยาไปได้สำเร็จ จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และอยากที่จะผ่านพ้นไปให้ได้

– หากิจกรรมทำร่วมกัน 

พาผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกัน อาจจะหาเวลาว่างปลูกต้นภายในบ้าน ทำกับข้าว ดูหนัง พูดคุยกันเรื่องสนุกๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือไม่ให้ผู้ป่วยพบตัวกระตุ้น

ที่มา: โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา www.sdtc.go.th

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง