วัยรุ่น วัยรุ่นไทย สุขภาพจิต อาการป่วยโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า

กรมสุขภาพจิต เผย วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 3 ล้านคน

Home / สุขภาพทั่วไป / กรมสุขภาพจิต เผย วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 3 ล้านคน

เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้เลย สำหรับ ‘โรคซึมเศร้า’ ภัยร้ายใกล้ตัวที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะว่าในปัจจุบันโรคซึมเศร้าได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งโรคที่ฆ่าชีวิตของมนุษย์เราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด!! กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่า วัยรุ่นไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคน

โรคซึมเศร้า ภัยอันตรายของวัยรุ่นไทย

ซึ่งคาดว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้อาการค่อยข้างดูยาก แต่ที่สังเกตได้ชัดเจนก็คือการมีพฤติกรรมที่รุนแรง ก้างร้าว มักทำร้ายตนเอง ใช้ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะทำให้คนรอบข้างหรือญาติมองว่าเป็นการกระทำของเด็กเกเร หรือเป็นนิสัยส่วนตัวธรรมดาๆ เท่านั้น

โรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายเกี่ยวกับปัญหาของโรคซึมเศร้าว่า เป็นภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องเร่งรักษาและป้องกัน เนื่องจากโรคนี้จะส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วย และยังรวมถึงเรื่องการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม อีกด้วย

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ในปีที่ผ่านมานั้นมีประชากรที่จะต้องเผิญกับปัญหานี้ 1 ใน 20 คน และเมื่อป่วยแล้วอัตราการป่วยซ้ำก็สูงเช่นกันคือ ร้อยละ 50-70 โดยสิ่งที่น่าวิตกไปมากกว่านั้นก็คือ ยังพบว่าโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกคิดที่จะฆ่าตัวตายด้วย

วัยรุ่นไทย : ภาวะซึมเศร้า

ส่วนในประเทศไทย ได้มีผลการศึกษาว่าวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 44 หรือมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากวัยรุ่นที่มีทั้งหมดประมาณ 8 ล้าน และมีอัตราการป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 18 ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคนี้แล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ยังเข้าถึงการรักษาน้อย

สำหรับวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการทางอารมณ์และพฤติกรรมที่ค้อนข้างแตกต่างจากของผู้ใหญ่ เช่น อาจจะมีอาการพฤติกรรมที่ชอบใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเองหรือคนอื่น มีอารมณ์ที่ก้าวร้าวหรือแปรปรวนง่าย

พฤติกรรมเสี่ยงโรคซึมเศร้า

พฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เช่น การใช้ยาเสพติด เป็นคนที่ชอบใช้อารมณ์หรือชอบใช้ความรุนแรง ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าสังคม จนทำให้คนรอบข้างเข้าใจว่าคนนั้นมีนิสัยที่เป็นเด็กเกเรเท่านั้น จึงส่งผลทำให้จำนวนของวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย การทำร้ายผู้อื่น ติดยาเสพติด ฯลฯ สุดท้ายก็กลายมาเป็นปัญหาสังคมในที่สุด

ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตก็ได้เร่งแก้ปัญหานี้ โดยให้ทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้วัยรุ่นที่มีปัญกาได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ต้นอย่างทันท่วงทีและดีที่สุด

แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์

แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับาชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า เพื่อให้แพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลทั่วประเทศได้นำแนวทางที่ได้ทำเอาไว้ไปใช้ในการดูแลรักษา ป้องกันภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการทดลองใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของวัยรุ่นให้มากที่สุด คาดว่าจะพร้อมใช้ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 นี้

วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ได้แก่

1. ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น เป็นต้น

2. มีโรคเรื้อรังทางกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคที่ทำให้ร่างกายผิดรูปหรือมีผลต่อภาพลักษณ์ เป็นต้น

3. ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ กดดัน ปัญหาการเรียน โดนรังแก ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

4. กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น มีความขัดแย้งในครอบครัว รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดการสอนทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง

5. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง ไม่มีสมาธิที่จะทำอะไรเลย ชอบนั่งเหมอบ่อยๆ

6. กินอาหารในแต่ละมื้อน้อยลงมาก หรือมากจนเกินไป

แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้แก่

1. การคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กำลังเร่งพัฒนาเครื่องมือและช่องทางที่เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาของเด็กๆ และครอบครัว

2. การตรวจวินิจฉัย การตรวจร่างกาย และการตรวจสภาพทางจิต

3. การรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด เพื่อเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมและอารมณ์ทางบวก ปรับความคิดที่ทำให้ซึมเศร้า ซึ่งจะสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ภายใน 4 สัปดาห์

4. การส่งเสริมการป้องกันปัญหาภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่น นอกจากจะมีสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นเข้ามาช่วยดูแลแล้ว ครอบครัวและโรงเรียนก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเลยที่จะเป็นตัวช่วยทำให้เด็กๆ ได้กลับมาปกติอีกครั้ง

อย่างที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ เป็นตัวสำคัญที่จะช่วยทำให้เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นกลับมาเป็นคนที่ร่าเริง แจ่มใส ได้อีกครั้ง แต่ทั่งนี้การดูแลรักษาหรือป้องกันโรคนี้จะเป็นไปได้ด้วยดีนั้น เด็กๆ ก็ต้องยอมรับการรักษาและปฏิบัติตามที่หมอสั่งเป็นอย่างดีอีกด้วย ก็จะช่วยทำให้เราได้เห็นผลการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

โรคซึมเศร้าคร่าชีวิตคนดัง…

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลและภาพ : https://medhubnews.comwww.thaidepression.com