บูลลี่ สุขภาพจิต

9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกบูลลี่ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

Home / สุขภาพทั่วไป / 9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกบูลลี่ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า “ในมุมของผู้ใหญ่ เรามักจะมองว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็ก เป็นเรื่องเด็กเล่นกัน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในมุมของเด็กที่ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เพราะเด็กต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกๆ วัน เราควรจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ในระยะยาว ดังนั้น เราในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู จึงไม่ควรนิ่งเฉย ควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที” บทความ ” วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกบูลลี่ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ”

วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกบูลลี่ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

และนายแพทย์กมล ยังได้ฝาก “ เคล็ดไม่ลับ 9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกบูลลี่ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ” เพื่อให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูนำไปปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลเด็กๆ ได้ต่อไป

1. ทำความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร

การทำความใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร คือสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมากขึ้น แท้จริงแล้วการกลั่นแกล้งคือ นิสัยที่เรียนรู้และเลียนแบบมาจากการเห็นหรือได้ยิน เช่น การพบเจอปัญหาคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือพบเจอคนในชุมชนด่าทอกันด้วยคำพูดหยาบคายทุกวัน จนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ผู้กระทำบางราย อาจจะเป็นบุคคลที่ขาดความมั่นใจในตนเอง อิจฉาริษยาผู้อื่น รวมถึงผู้กระทำบางรายอาจจะเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน

2. กล้าที่จะพูดหรือแสดงความไม่พอใจต่อผู้กระทำ

หลายครั้งที่ปัญหาการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับบุคคล บุคคลหนึ่งมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถูกกระทำ ไม่กล้าที่จะพูด หรือแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้ผู้กระทำไม่รับรู้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ การแสดงออกหรือการพูดสื่อสารออกมาว่าผู้ถูกกระทำนั้นไม่พอใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งลดน้อยลง หรือหยุดการกระทำนั้นๆ ลงได้ เนื่องจากผู้กระทำได้รับการตระหนักรู้ ถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำว่า “ไม่พอใจ” และ “เสียใจ” ตลอดจนรับรู้ว่าการกระทำของตนนั้นสร้างผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำอย่างไรบ้าง

3. บอกเล่าการโดนกลั่นแกล้งกับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู

ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เกิดจากการที่ผู้ถูกกระทำ ไม่ได้บอกเล่าเรื่องถูกกลั่นแกล้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูทราบ จึงทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ต้องสอนเด็กและลูกหลานของเรา “ไม่ให้เงียบ” , “เพิกเฉย” หรือ “ทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” และ จงกล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน เพราะปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อหาวิธีการรับมือ และหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

4. การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทราบหรือไม่ว่า ในบางสถานการณ์ การกลั่นแกล้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากว่าผู้ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทอเชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลังและความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น หากว่ามีการพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

5. อย่ามองว่าตัวเองเป็นปัญหา

การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากผู้อื่น เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตา ที่ต่างจากผู้อื่น ไม่ใช่ปัญหาของผู้ถูกกระทำเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะทัศนคติของผู้กระทำต่อผู้อื่นต่างหาก สิ่งที่สำคัญคือเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หากลูกของคุณเป็นผู้ถูกกระทำ จงสอนเขาว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และมันไม่ใช่ปัญหาของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวผู้กระทำเองทั้งสิ้น

6. มองหาวิธีจัดการกับความเครียด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างความเครียดให้แก้ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก นอกจากการบอกเล่าปัญหาต่อผู้ที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครูแล้ว ควรลองมองหากิจกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยว เพื่อจัดการกับความเครียดของตนเอง และทำให้สภาพจิตใจไม่หมกมุ่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

7. อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว

การอยู่คนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำให้เราจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ การอยู่คนเดียวเงียบๆ จะทำให้ลดความมั่นใจและความภาคภูมิใจของผู้ถูกกระทำได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ที่จะคอยสอดส่อง ดูแล พฤติกรรม อรมณ์ของเด็กๆ และบุตรหลาน ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเงียบหรือปลีกตัวมาอยู่คนเดียว

8. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี

สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างบาดแผลและปมในใจให้กับผู้ถูกกระทำซึ่งสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกาย เช่น การอดอาหาร เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หากบุตรหลานของท่านได้รับการกลั่นแกล้งที่กระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยา เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างดีและตรงจุด

9. มองหาบุคคลต้นแบบที่ดี

การกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้ถูกกระทำสับสนและไม่ชอบในตัวเอง หากว่าผู้ถูกกระทำมีบุคคลต้นแบบที่ดี จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า มีอีกหลายคนที่เคยพบเจอกับปัญหาเดียวกัน แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านการโดนกลั่นแกล้งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ผู้ถูกกระทำ มองเห็นคุณค่าของตัวเองและรักตัวเองมากขึ้น

. . . . .

การบูลลี

การรังแก กลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือ การบูลลี ได้กลายเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย จากสถิติของกรมสุขภาพจิต ชี้ว่า ในปี 2561 มีจำนวนนักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 600,000 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 40% มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ปัจจุบันระดับความรุนแรง ของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งและปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เชื่อมั่นว่า การที่จะสร้างแรงผลักดันให้เกิดสังคมน่าอยู่ได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เริ่มต้นจากความร่วมมือในโรงเรียน ชุมชนเล็กๆ ของเด็กๆ ขยายวงกว้างออกไปสู่ความร่วมมือในสังคมไทย โดยเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “Shared Kindness คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” จะสามารถสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

บทความแนะนำ