คุณน้าคะ : พารานอยด์เป็นโรคหรือเปล่า อาการเป็นอย่างไร อยากรู้จริงๆ // เจลลี่
ตอบ เจลลี่
จากนิตยสารหมอชาวบ้านปีที่ 28 ฉบับที่ 338 เมษายน 2550 มีคำตอบสรุปความดังนี้ พารานอยด์ (paranoid) หรือ หวาดระแวง หมายความถึง อาการทางจิตอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความสงสัยคิดเกินเลยจนเป็นความระแวง มีตั้งแต่น้อยๆ นั่นคือคนอื่นอาจพูดคุยโน้มน้าวใจด้วยเหตุผลก็พอจะโยกคลอนได้ ไม่เชื่อแบบฝังแน่น แต่หวาดระแวงมากๆ คือฝังแน่นอย่างสุดลิ่ม ไม่ว่าใครจะนำหลักฐานอะไรมาก็ไม่เชื่อ เชื่อตัวเองอย่างเดียว ประการหลังนี่เองที่เรียกว่าเป็นความผิดปกติหรือมีอาการทางจิต
พารานอยด์ คืออะไร เป็นโรคหรือเปล่า ?
อาการหวาดระแวง พบได้จากหลายโรค
เช่น โรคจิตเภท ซึ่งมีหลายประเภท มีอาการแสดงอย่างหนึ่งคือหวาดระแวง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจิตเภททุกคนจะหวาดระแวง มีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น และพบในคนอายุน้อย อีกโรคหนึ่งคือโรคหลงผิด พบได้ในคนอายุมาก โดยอาการส่วนใหญ่ออกมาในแนวหวาดระแวง เช่น ระแวงว่าภรรยาคบชู้ ระแวงว่าเพื่อนบ้านจะนำยาพิษมาใส่อาหาร เป็นต้น
เมื่อมีอาการนี้แล้ว แพทย์จะต้องตรวจเพิ่มว่ามีอาการอย่างอื่นหรือไม่ เพราะโดยปกติจะมีหลายอาการร่วมด้วย รายที่ระแวงเป็นชั่วครั้งชั่วคราว รักษาไม่ยาก พบได้ในกลุ่มที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาบุคลิกภาพ แต่รายที่ระแวงอยู่นานน่าจะอยู่ในกลุ่มของอาการทางจิตแบบหนึ่ง หรืออาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น สารพิษ สารเสพติด ที่พบมากคือยาบ้า ยาอี รวมทั้งสารระเหยต่างๆ
คนหวาดระแวงที่อายุมาก หรือมีการศึกษา เวลาระแวงจะสังเกตได้ยาก
เพราะเขาจะรู้ว่าควรระแวงแบบไหนทำให้ดูไม่ผิดปกตินัก สำหรับรายที่ระแวงมากๆ หรืออายุน้อย เช่น วัยรุ่นกลุ่มโรคจิตเภท ค่อนข้างชัดเจน อาจมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ไปเรียน ไม่ไปทำงาน แสดงว่าผิดปกติชัดเจน แต่ถ้าทำงานอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ต้องดูอาการอื่นๆ ถ้าไม่แน่ใจอาจปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะบางรายต้องใช้การทดสอบทางจิตวิทยา หรือรายที่มีอายุมาก สาเหตุไม่ชัดเจน ต้องตรวจร่างกายด้วย
ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางกาย
เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกในสมอง โรคเอสแอลดีขึ้นสมอง ก็ทำให้เกิดความหวาดระแวงได้ จิตแพทย์ต้องสังเกตว่ามีอาการทางกายด้วยหรือไม่ อยู่นอกบ้านเผชิญคนหวาดระแวง แก้สถานการณ์อย่างไร ต้องสังเกตให้ได้ก่อนว่าคนนี้น่าสงสัย คนที่หวาดระแวงคือคนที่อาจระแวดระวังผิดปกติ เช่น หลบมุม ถือวัตถุสิ่งของที่อาจเป็นอาวุธ อย่างนั้นต้องรีบออกห่าง ถ้าไม่ทันสังเกต หรือไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ที่ควรทำคืออย่าไปโต้แย้ง เขาพูดอะไรมาก็ฟังเรื่อยๆ ก่อนพยายามปลีกตัว หรือแจ้งตำรวจตรวจสอบ กรณีเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิชาป้องกันตัว หรือใช้คำพูดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเขา โดยธรรมชาติคนหวาดระแวงจะกังวลว่าตัวเองจะถูกทำร้าย เพราะฉะนั้นเขาต้องป้องกันตัวเอง ทำอะไรที่น่าสงสัยขึ้นมาไม่ดีเขาจะทำร้ายก่อน
ดังนั้น เมื่อรู้ว่าคนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างในสังคมหวาดระแวง ควรแนะนำไปตรวจเช็คสุขภาพจิต เมื่อตรวจแล้วมีปัญหาจะได้รักษากันไป อย่าปล่อยให้อาการหวาดระแวงเป็นมาก เพราะจะทำให้รักษายากและใช้เวลารักษานาน
การป้องกันไม่ให้มีอาการหวาดระแวง
โดยทั่วไปร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติอยู่แล้วในการป้องกัน คือเหตุผล เช่น สงสัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะหาเหตุผลว่าใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ล้มเลิกไป นอกจากนั้น สถานการณ์บางอย่าง เช่น อยู่ในสังคมที่หวาดระแวง หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ถ้ามีความระแวงบ้างอาจมีประโยชน์ เพราะระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่หวาดระแวงแบบนี้ไม่ใช่อาการ เป็นความระแวดระวัง
รู้ไปโม้ด [email protected] , pic : freeimages.com
บทความแนะนำ
- สีสันกับสุขภาพจิต | อิทธิพลของสีสันต่อร่างกายและจิตใจคนเรา
- 3 วิธีเปลี่ยนอารมณ์แง่ลบ ให้เป็นพลังบวก – อย่าให้ความรู้สึกลบ ทำลายสุขภาพ
- หัวเราะ 15 นาที ต่อวัน นี่คือ 5 ประโยชน์ดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย
- ถ้าอยากสดชื่นผ่อนคลาย แนะนำการเลือกกลิ่น น้ำมันหอมระเหย ให้เหมาะกับตัวเอง
- ชีวิตจะดีขึ้นจนรู้สึกได้ 6 นิสัยเสีย ที่ควรเลิกทำ