7 ข้อเท็จจริง โรคหลอกตัวเอง – โรคของคนที่มโนเก่ง จนเป็นโรคไม่รู้ตัว

ช่วงนี้บ้านเรามีประเด็นจ้อจี้ให้เห็นกันมากมาย โกหกเก่ง แต่งเรื่องกันเก่ง โกหกว่าท้องบ้างล่ะ สร้างเรื่องให้ตัวเองดูมีคุณค่า โกหกว่าเรียนเตรียม เรียนจุฬาบ้างล่ะ อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของคนที่สร้างเรื่องเก่ง แต่บางทีคนเหล่านั้นอาจจะเป็น โรคหลอกตัวเอง โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้นะ วันนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากกัน ใครที่มีคนใกล้ตัวเข้าข่ายเป็นโรคนี้ก็ลองสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาดู

7 ข้อเท็จจริง โรคหลอกตัวเอง

โรคหลอกตัวเอง ที่ไม่ได้หลอกแค่ตัวเอง

โรคหลอกตัวเอง หรือ Pathological Liar เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีนิสัยชอบหลอกทั้งตัวเองและคนอื่น เพื่อเรียกร้องความสนใจ และเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง เมื่อหลอกตัวเองเป็นเวลานาน ๆ ทำให้จิตใต้สำนึกคิดว่าเรื่องที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริง และที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคนี้มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรค

สาเหตุของ โรคหลอกตัวเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอกตัวเอง โดยส่วนมากมักจะเกิดจากโรคทางจิตที่เป็นอยู่แล้ว เช่น โรคซึมเศร้า โรคหลงผิด โรคขาดความยั้งใจ โรคย้ำคิดย้ำทำ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างเช่นครอบครัวมีปัญหา ถูกกระทำชำเรา ถูกบังคับขืนใจ รวมไปถึงความผิดปกติทางประสาท หรืออาจจะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่นก็เป็นได้

การหลอกตัวเอง อาจจะเป็นผลพวงมาจากโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

จากการศึกษาพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD พบว่า พวกเขามักจะมีพฤติกรรมที่ชอบโกหก แต่งเรื่องขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองสบายใจ และรู้สึกดีขึ้นจากความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น

พวกเขามีระดับฮอร์โมนที่แตกต่างจากคนทั่วไป

หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจของ คนที่เป็นโรคหลอกตัวเองก็คือ อัตราส่วนของระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และเทสโทสเทอโรน ของพวกเขา จะแตกต่างจากคนปกติทั่วไป ซึ่งทำให้พวกเขามักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือทำอะไรลงไปโดยไม่ได้คำนึงผลที่จะตามมา

พวกเขามักจะโกหก เรื่องสุขภาพของตัวเอง

พวกเขามักจะชอบโกหกเรื่องปัญหาสุขภาพ ชอบบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นโรคนู้นโรคนี้ เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้คนอื่นเห็นอกเห็นใจ ให้คนอื่นมาดูแล

พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวเขาเองก็โดนตัวเองหลอกเช่นเดียวกัน โดยที่พวกเขาสามารถผ่านการจับโกหกโดยเครื่องจับเท็จมาได้แบบสบาย ๆ

หลอกตัวเอง เพื่อให้ตัวเองสบายใจ แต่หลาย ๆ ครั้ง มันกลับสร้างความกังวลใจให้พวกเขาเอง

แน่นอนว่าภาพความคิดที่พวกเขาสร้างขึ้นมา มันทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกดี แต่หลาย ๆ ครั้งการโกหกมันก็ยิ่งสร้างความกังวลใจ ความเครียด ให้กับพวกเขาเอง เพราะการโกหก เรื่องที่พวกเขาแต่งขึ้นมานั้นมันได้สร้างปัญหาให้กับตัวเขาเอง และคนรอบข้าง และเมื่อได้เริ่มโกหกแล้ว เขาก็ต้องโกหกต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ถูกจับได้

คุณโดนเขาหลอกตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ

คนที่เป็นโรคหลอกตัวเองส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมา ทั้งนิสัย บุคลิกภาพต่าง ๆ เพราะมันจะทำให้การโกหกในครั้งต่อ ๆ ไปยิ่งยากขึ้นไปอีก หากคุณรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา ทุกครั้งที่เขาอยู่ต่อหน้าคนอื่น เขาจะทำตัวราวกับกำลังถ่ายละครหลังข่าวอยู่สักเรื่อง

ขอบคุณข้อมูลจาก: bustle

Written by: Typrn

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง