เครียดสะสม เสี่ยงอาการหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome)

การเครียดสะสม หรือภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง สามารถทำให้เกิด อาการหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome ได้ เพราะจะส่งผลให้การทำงาน ของหัวใจผิดปกติ และตกอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียดได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรรับมือกับความเครียดและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถูกวิธี รวมถึงดูแลหัวใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ

อาการหัวใจสลาย – กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

Broken Heart Syndrome

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี กล่าวว่า Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ซึ่งค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในชื่อเรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy พบมากในหญิงวัยกลางคน มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติ โป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับปลาหมึกของญี่ปุ่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

สาเหตุของ Broken Heart Syndrome

ซึ่งสาเหตุของ Broken Heart Syndrome คือ ความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความเจ็บป่วยทางการแพทย์ การสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง ปัญหาการงาน การเงิน ความผิดหวังอย่างรุนแรง อาการบาดเจ็บสาหัส หรือยาเสพติด ความเครียดสะสมจนทำให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจมีการเต้นเร็วผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและล้มเหลวได้ และเกิดจากฮอร์โมน ซึ่งกลุ่มอาการหรือโรคนี้ ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะหมดไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (Stress Hormone) ในร่างกายได้น้อย จนทำให้เกิด Broken Heart Syndrome ได้

อาการหัวใจสลาย

โดยอาการที่สังเกตได้คือ แน่นและเจ็บหน้าอก มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยพิจารณาจากอาการ ประวัติความเครียด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นสำคัญ

ประกอบไปด้วย การซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG) ผู้ป่วยจะมีลักษณะคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติ เหมือนกราฟไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน  และการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) จะมีลักษณะการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ ความแรงในการบีบตัวของหัวใจจะลดลง หัวใจห้องล่างซ้ายอ่อนกำลัง และการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography : CAG) ผู้ป่วยที่มีภาวะ Broken Heart Syndrome จะต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะอาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้

วิธีรักษา

วิธีการรักษา หากอาการไม่รุนแรงอายุรแพทย์โรคหัวใจจะให้การรักษาด้วยยา แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย อาจต้องมีการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย

ดูแลใจให้ห่างไกล Broken Heart syndrome

Broken Heart Syndrome จะไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ฉะนั้น .. ไม่ควรเครียดมากจนเกินไป ทำใจให้สบาย พูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิดให้มากขึ้น เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว ดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ใช้ชีวิตให้มีความสุข ทำในสิ่งที่ชอบ ท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพและหัวใจอย่างสม่ำเสมอ

และภาวะนี้เมื่อเป็นแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้จากความเครียด ทางที่ดีที่สุดคือ ดูแลหัวใจให้เข้มแข็ง ตั้งรับกับทุกปัญหาด้วยความเข้าใจ จัดการความเครียดอย่างถูกวิธี หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 080-1919019 Contact Center โทร. 1719 หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง