โรคแพนิค (Panic disorder) เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก แต่จริง ๆ แล้วพบได้บ่อยมาก หลายคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ถ้าพบว่าเป็นโรคแพนิคก็ไม่ต้องกลัวหรือเป็นกังวลไปครับ เพราะโรคนี้รักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค วิธีการรับมือ แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และโปรดจำเอาไว้เสมอว่า “โรคนี้ไม่เคยทำให้ใครตาย และไม่มีอันตรายอะไร”
โรคแพนิค ภาวะวิตกกังวล หรือ มีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง
โรคแพนิค/แพนิก หรือ โรคตื่นตระหนก (Panic disorder)* หรือบ้างก็เรียกว่า “โรคหัวใจอ่อน” หรือ “โรคประสาทลงหัวใจ” คือ ภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อน คือ อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่เพียงไม่นานก็จะหายไป และอาการจะมีลักษณะกำเริบซ้ำ ๆ ได้อีกเป็นครั้งคราว เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า
สาเหตุของโรคแพนิค
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า โรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม เพราะพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
โดยปกติแล้วเวลาที่คนเราตกใจร่างกายจะมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจนั้นผ่านระบบของร่างกาย ที่สำคัญก็คือระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นระบบที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลให้ร่างกาย ซึ่งเราสั่งให้มันทำงานไม่ได้ เช่น เราจะสั่งให้หัวใจของเราเต้นเร็วขึ้นไม่ได้ จะสั่งให้เหงื่อออกเองไม่ได้ เป็นต้น แต่มันจะทำงานเองโดยอัตโนมัติเมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลงไป) ซึ่งจะส่งผลทำให้หัวใจเต้นแรง หายใจเร็ว เหงื่อออก
ระบบที่ว่านี้จะทำงานเฉพาะเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้นเท่านั้น แต่ถ้าระบบนี้ทำงานขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีสิ่งใดมากระตุ้นเลยนั่นคือ อาการของโรคแพนิค คือระบบประสาทอัตโนมัติไวเกินไปนั่นเอง (เปรียบเหมือนกับสัญญาณกันขโมยของรถยนต์ที่ไวเกิน แค่สุนัขปัสสาวะใส่ล้อ มีลมพัด หรือใบไม้หล่นใส่ สัญญาณก็ดังแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการขโมยหรือถูกงัดแงะแต่อย่างใด)
อาการของโรคพานิค
ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 17-30 ปี (โดยเฉลี่ยคือ 25 ปี) โดยจะมีอาการวิตกกังวลหรือรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันทันทีทันใดโดยไม่คาดคิดมาก่อนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ และผู้ป่วยจะมีอาการแบบนี้กำเริบซ้ำได้อีกบ่อย ๆ บางรายอาจเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางรายที่เป็นมากก็อาจจะเป็นวันละหลาย ๆ ครั้ง จนอาจไม่สามารถนอนหลับได้ในตอนกลางคืน ซึ่งผลจากการที่มีอาการแบบนี้บ่อยๆ จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเกิดความวิตกกังวลตามมา เช่น กลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไรบางอย่าง เป็นต้น
ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีอาการผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป
- ใจสั่น หัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็วเหมือนตีกลอง
- มือสั่น หรือตัวสั่น
- เหงื่อแตก
- หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หรือแน่นในหน้าอก
- เจ็บบริเวณหน้าอกหรือไม่สบายบริเวณหน้าอก
- คลื่นไส้ ไม่สบายท้องหรือปั่นป่วนในท้อง
- รู้สึกมึนงง วิงเวียนศีรษะ โคลงเคลง หรือรู้สึกว่าตัวเองแปลกไป
- รู้สึกมึนชาหรือปวดเสียวตามตัว
- รู้สึกหนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว
- กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า
- กลัวว่าจะเสียชีวิต
ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใดๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่นก็ได้
อาการแพนิคนั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดภายใน 10 นาที ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วหายไป (ส่วนมากจะมีอาการแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที และมีน้อยรายมากที่จะมีอาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 ชั่วโมง)
อาการแพนิค
ผู้ที่มี “อาการแพนิค” (Panic attacks) ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นโรคแพนิค (Panic disorder) เสมอไป หากมีอาการแพนิคเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ได้เกิดผลอะไรตามมาก็ไม่นับว่าเป็นโรคแพนิค (เช่น เครื่องบินสั่นมากตอนเจอสภาพอากาศที่ไม่ดี แล้วเกิดอาการขึ้นมา) เพราะในโรคแพนิคนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบซ้ำหลายครั้ง จนเกิดความกังวลว่าจะมีอาการนี้ขึ้นมาอีก กลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ กลัวว่าจะเสียชีวิต กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเป็นบ้า และอาจส่งผลทำให้ต้องเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าขับรถ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ประกอบกับมีความกลัวต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจะถือว่าเป็นโรคแพนิค (Panic disorder)
อาการแพนิคสามารถพบได้ในโรคอื่น ๆ เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม (Social phobia) ที่เมื่อผู้ป่วยต้องพูดกับคนแปลกหน้า อาจจะกลัวจนมีอาการแพนิคเกิดขึ้นได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่ได้กลัวว่าจะมีอาการแพนิคเกิดขึ้นอีกหรือกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่าง
การดูแลและจัดการตัวเองเมื่อมีอาการแพนิค
สิ่งสำคัญเมื่อมีอาการแพนิคเกิดขึ้น คือ ให้พยายามตั้งสติ อย่าตกใจ และอย่าคิดว่าจะป่วยหนักหรือจะหัวใจวายหรือเสียชีวิต เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและเป็นมากขึ้น โดยสิ่งแรกที่ควรทำ คือ การนั่งพัก จากนั้นให้หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ยาวๆ เหมือนเวลานั่งสมาธิ (เพราะหากยิ่งหายใจเร็วหรือหายใจสั้นถี่ก็จะยิ่งทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น) แล้วรอให้อาการสงบไปเอง ในระหว่างที่มีอาการเกิดขึ้นให้บอกกับตัวเองด้วยว่า
“เราไม่ได้เป็นอะไรนะ ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ และไม่ได้กำลังจะตาย เราแค่มีอาการแพนิคกำเริบ สักพักอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองเหมือนครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา”
โดยให้ท่องความจริงข้อนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ นาที พร้อมกับเปิดตามองดูว่าเราไม่ได้มีอันตรายตรงไหนเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ เลย ซึ่งโดยทั่วไปถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้อาการก็จะดีขึ้นภายใน 15-20 นาที
ขอบคุณข้อมูลจาก medthai.com ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของอาการคลิกเลย!