การชันสูตรพลิกศพ (Autopsy) คือ การตรวจดูศพแต่เพียงภายนอก ซึ่งกฎหมายมีความมุ่งหมายให้ดำเนินการในสถานที่พบศพ ยกเว้นแต่ว่าการดูในสถานที่นั้น อาจจะทำให้การจราจรติดขัดมาก หรืออาจจะเป็นที่อุดจาด หรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไป ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปทำยังสถานที่อื่นที่เหมาะสมได้ เห็นได้ว่าสภาพการจราจรในปัจจุบันทำให้อุบัติเหตุจราจรเกือบทุกรายต้องย้าย ศพไปตรวจยังที่อื่น ซึ่งก็มักจะเป็นสถานที่ผ่าศพนั่นเอง
การชันสูตรพลิกศพ – การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์
ในกรณีที่แพทย์และพนักงานสอบสวนไปทำการชันสูตร ณ. ที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวน ต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการ ตรวจหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย
แพทย์สามารถใช้การตรวจสถานที่เกิดเหตุ เป็นข้อมูลที่ช่วยประกอบการผ่าศพเพื่อ ที่จะสันนิษฐานพฤติการณ์ตายได้ใกล้เคียงขึ้น ดังคำว่า “การผ่าศพทางนิติพยาธิเริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ”
การชันสูตรพลิกศพ – การผ่าศพ
ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ยังแยกการชันสูตร พลิกศพกับการผ่าศพออกจากกัน
คือ ระบุว่าจะทำการผ่าศพ ต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรเห็นควร ส่งศพหรือชิ้นส่วนของศพให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทำการผ่าศพ หรือแยกธาตุ ถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าการชันสูตรพอรู้สาเหตุการตายแล้ว ถือว่าการชันสูตรศพรายนั้นเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมาย … ทั้งๆ ที่วิชานิติเวชศาสตร์ในปัจจุบัน ถือว่าการชันสูตรพลิกศพแต่เพียงอย่างเดียวมักไม่เพียงพอ นิติพยาธิแพทย์ควรพิจารณาเป็นรายๆไปว่า จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจไม่จำเป็นต้องผ่าศพ
การชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรพลิกศพ (Autopsy) คือ กระบวนการตรวจพิสูจน์เพื่อดูสภาพศพแต่เพียงภายนอก ค้นหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ว่าผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย สงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ที่ทำให้เกิดการตาย .. ตามที่ประมวลกฎหมาย ความว่า… “ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล”
การชันสูตรพลิกศพในไทย
การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย เป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”
การตายโดยผิดธรรมชาติ
คือ การตาย 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ การฆ่าตัวตาย , การถูกผู้อื่นทำให้ตาย , การถูกสัตว์ทำร้ายตาย , การตายโดยอุบัติเหตุ และ การตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
การตายในความควบคุมของเจ้าพนักงาาน
ส่วนการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่การตายที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือขัง หรือกักขัง หรือจำคุก หรือคุมตัวของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือคำพิพากษา หรือตามคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี ไม่ว่าการตายนั้นจะเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือไม่ก็ตาม .. ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าพนักงานผู้ควบคุมว่า เกี่ยวข้องกับการตายหรือไม่เพียงใด
วิธีการชันสูตรพลิกศพ มี 2 วิธี
วิธีการชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย มีด้วยกัน 2 วิธี คือ การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่า และการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ
การชันสูตรพลิกศพ โดยไม่ผ่า
คือ การตรวจสภาพภายนอกของศพ ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตาย เพื่อประมาณเวลาตาย ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตาย … การตรวจดังกล่าวจะต้องพลิกศพดูทั้งด้านหน้าและด้านหลังของศพ จึงใช้คำว่า “พลิกศพ”
การชันสูตรพลิกศพ โดยการผ่าศพ
ส่วนการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ เป็นการกระทำเมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตาย ในกรณีที่การพลิกศพไม่สามารถบ่งบอกสาเหตุการตายได้ชัดเจน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา มาตรา 151 บัญญัติว่า “ในเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพเพื่อแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วนไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้” การผ่าศพเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหา และข้อสงสัยจากการพลิกศพได้เช่น เมื่อพลิกศพพบบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย รูลึกนี้อาจเกิดจากกระสุนปืน หรือตะปูขนาดใหญ่ก็ได้
การผ่าศพจะทำให้ทราบว่า บาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร และยังทำให้ทราบต่อไปว่าอาวุธหรือวัตถุนั้น ถูกอวัยวะสำคัญอะไรจึงทำให้ตาย หรือในกรณีที่การพลิกศพไม่พบบาดแผลปรากฏภายนอกให้เห็น การผ่าศพจะบอกได้ว่า การตายเกิดจากตับแตก ม้ามแตก ฯลฯ อันเป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เส้นโลหิตในสมองแตก ฯลฯ อันเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เป็นต้น
สถานที่ชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย
หากพิจารณาตามกฎหมายแล้ว กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ทำการชันสูตร ณ สถานที่ที่พบศพ โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ ส่วนแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรศพนั้นได้แก่ แพทย์ตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 150 กำหนดไว้ ได้แก่ นิติเวชแพทย์ , แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , หรือแพทย์อาสาสมัครที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข หลังจากได้มีการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นแล้ว
หากยังหาสาเหตุการตายไม่ได้ หรือไม่ชัดแจ้ง
จะส่งศพให้แพทย์ทำการผ่าศพตรวจโดยละเอียดได้ (ตาม ป.วิ อาญา ม.151) ณ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น
สำหรับต่างจังหวัด
อาจส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ,โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ในแต่ละภูมิภาค หรือโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีแพทย์นิติเวชประจำอยู่เป็นต้น
การนำศพไปชันสูตร ณ โรงพยาบาล มักเป็นการดำเนินการโดยอนุโลม เช่น แพทย์ไม่สะดวกในการเดินทางไปชันสูตรในพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือเป็นการเคลื่อนย้ายศพมาชันสูตรเพิ่มเติม เช่น เอ๊กซเรย์ศพ เพื่อหาวัตถุแปลกปลอมภายใน ในกรณีเสียชีวิตจากท้องที่อื่นแล้วนำศพมาทิ้งไว้ จะต้องประสานความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุด้วย แต่พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพยังคงถือเป็นเจ้าหน้าที่หลักผู้รับผิดชอบในการชันสูตรศพนั้น
ภาพจาก www.dailyrecord.co.uk ข้อมูลจาก www.ifm.go.th การชันสูตรพลิกศพ , บ้านจอมยุทธ์ , ขั้นตอนการชันสูตรศพ ต้องทำอะไรบ้าง?