การบริโภคน้ำเต้าหู้ หรือ นมถั่วเหลือง เป็นที่ทราบกันว่าได้รับประโยชน์จากโปรตีน และมีสารอาหารมากมาย อาทิ วิตามิน B1, B2, B6, B12 มีเส้นใยธรรมชาติที่ดีต่อระบบขับถ่าย มี “เลซิทิน” ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดไขมันและลดโคเลสเตอรอลในร่างกาย ในอีกด้านก็มีผลเสียเช่นกัน หากผู้บริโภคไม่ศึกษาให้ดีก่อนทานว่าเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ ลองไปอ่านข้อมูลต่อไปนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานน้ำเต้าหู้กันค่ะ
ประโยชน์น้ำเต้าหู้
- ช่วยลดและป้องกัน โรคมะเร็งเต้านม และ บรรเทาอาการ ข้างเคียงจาก ภาวะหมดประจำเดือน
- ช่วยป้องกันและแก้ไข โรคหัวใจ เนื่องจากเป็นอาหารที่ไม่มีคอเรสเตอรอล มีไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ยังมี โอเมกา 3 และวิตามินอี
- ช่วยป้องกันและยับยั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากถั่วเหลืองมีไฟเบอร์สูง ไฟเบอร์เหล่านี้จะช่วยทำความสะอาดระบบทางเดินอาหาร
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ได้
- เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับนักมังสวิรัต เพราะถั่วเหลืองมีสารอะมิโน เอซิด ที่จำเป็นต่อร่างกาย
- ใช้แทนน้ำนมวัว ในเด็กที่แพ้นมวัวและแพ้แลคโตสในนม
- ใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะถั่วเหลืองมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อย และยังไม่มีคอเลสเตอรอล
ความปลอดภัยในการบริโภคน้ำเต้าหู้และถั่วเหลือง
ผู้บริโภคทั่วไป
การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง หรือมีโปรตีนจากถั่วเหลืองรวมถึงน้ำเต้าหู้ในปริมาณที่เหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค
การบริโภคโปรตีนถั่วเหลืองในรูปของอาหารเสริมที่สกัดมาจากถั่วเหลืองจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย หากบริโภคติดต่อกันเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 6 เดือน แต่หากบริโภคติดต่อกันในระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญได้
การดื่มน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวเป็นประจำเพื่อทดแทนอาหารชนิดอื่น อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้รับสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณเพียงพอ
การดื่มน้ำเต้าหู้และรับประทานถั่วเหลืองอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในบางกรณี เช่น ท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ หรือมีอาการแพ้ อย่างมีผดผื่นคัน ใบหน้าบวมแดง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่พบผลข้างเคียงหลังการบริโภค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
ผู้ที่ควรระมัดระวังในการบริโภคน้ำเต้าหู้เป็นพิเศษ
เด็ก การบริโภคถั่วเหลืองจะปลอดภัยหากรับประทานเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารในปริมาณที่พอดี ในบางรายที่แพ้นมผงที่ทำจากนมวัว แพทย์อาจแนะนำให้บริโภคนมผงที่ทำจากถั่วเหลืองแทน แต่ต้องไม่ให้นมที่ทำจากถั่วเหลืองในเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เด็กแพ้ถั่วเหลือง
สตรีมีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การบริโภคถั่วเหลืองจะปลอดภัยหากรับประทานเป็นเครื่องดื่มหรืออาหารในปริมาณที่พอดี แต่อาจเป็นอันตรายได้หากบริโภคในรูปแบบอื่นเพื่อหวังผลทางการรักษา ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำเต้าหู้หรือถั่วเหลืองในปริมาณที่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อเด็กทารก
ผู้ป่วย เนื่องจากปัจจัยทางสุขภาพ ผู้ที่กำลังป่วยหรือมีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคอาหารประเภทใดก็ตาม รวมทั้งการบริโภคน้ำเต้าหู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากมีข้อสงสัยว่าการดื่มน้ำเต้าหู้หรืออาหารอื่น ๆ ที่ทำมาจากถั่วเหลืองจะส่งผลต่ออาการป่วยของตนหรือไม่ ผู้ป่วยควรสอบถามและปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
มะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากสารไอโซฟลาโวนในถั่วเหลืองมีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน จึงอาจมีผลกระทบในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยมะเร็งเต้านม และการบริโภคถั่วเหลืองในรูปอาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกในภาวะก่อนมะเร็งได้ ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจากถั่วเหลือง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลุกลามของมะเร็ง
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อาหารที่ทำมาจากถั่วเหลืองเพิ่มความเสี่ยงในการก่อเซลล์มะเร็งทั้งในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ไตวาย หากมีระดับสารไฟโตรเอสโตรเจนในเลือดมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะพิษ เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยภาวะไตวาย
นิ่วในไต การบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในไตจากการสะสมของสารออกซาเลต (Oxalates) มากจนเกินไป ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยนิ่วในไตควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองในปริมาณมากเกินไป
โรคเบาหวาน ถั่วเหลืองอาจมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดต่ำลงมากจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
โรคทางพันธุกรรมซิสติก ไฟโบรซิส ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ควรบริโภคน้ำเต้าหู้ เพราะสารในน้ำเต้าหู้อาจส่งผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้
หอบหืด ผู้ป่วยหอบหืดอาจมีอาการแพ้เปลือกถั่วเหลืองได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลือง
ไข้ละอองฟางหรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้อาหารที่ทำมาจากถั่วเหลืองและเปลือกถั่วเหลืองได้
แพ้นมวัว ผู้ที่แพ้นมวัวมีโอกาสที่จะแพ้น้ำเต้าหู้หรือนมจากถั่วเหลืองนี้ได้เช่นกัน จึงควรระมัดระวังในการบริโภคเสมอ
ที่มาข้อมูล: www.pobpad.com, thaigoodview.com
บทความแนะนำ
- สารพัดประโยชน์ของ ขึ้นฉ่าย – ผักมหัศจรรย์ ที่ป้องกันได้หลายโรค
- ประโยชน์ของ ตำลึง – ผักริมรั้วหาง่าย ที่ทุกคนควรกิน
- ควินัว ธัญพืชสายคลีน กับประโยชน์สุดเจ๋ง ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก
- กลางคืนนอนร้องไห้ ตอนสายนั่งเครียด ! 6 อย่างที่ต้องเลี่ยง ถ้าไม่อยากมีชีวิตติดดราม่า
- เราเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า ? วิธีรับมือ กับอารมณ์แปรปรวนสุดขั้ว Bipolar Disorder
- 10 สมุนไพร ช่วยดีท็อกซ์ลำไส้ ช่วยพุงยุบ ปลอดภัยแบบธรรมชาติ