ตะขาบ พิษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อโดนตะขาบกัด วิธีไล่ตะขาบตามภูมิปัญญาไทย

Home / สุขภาพทั่วไป / การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อโดนตะขาบกัด วิธีไล่ตะขาบตามภูมิปัญญาไทย

ตะขาบ (Centipede) เป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ในเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก มีหลายขนาด ส่วนใหญ่ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 3-8 เซนติเมตร (ขนาดใหญ่ที่สุดคือชนิด Scolopendra heros มีความยาว 8-10 นิ้ว) ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ วางไข่ในที่ชื้นหรือต้นพืชหญ้า ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนาน โดยลอกคราบ 10 ครั้ง ตัวเต็มวัยมีอายุ 3-5 ปี ในเวลากลางวันจะซ่อนอยู่ในที่เย็นๆ เช่น ใต้ก้อนหิน ออกหาเหยื่อในเวลากลางคืน กินแมลงเป็นอาหาร

การปฐมพยาบาล เมื่อโดนตะขาบกัด

เขี้ยวพิษ 1 คู่

ตะขาบมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากขาคู่หน้าตรงปล้องแรกของลำตัว เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวดและเป็นอัมพาต

พิษของตะขาบ

พิษของตะขาบประกอบด้วยสารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม ปวด แดง ร้อน บางรายที่แพ้พิษอาจพบอาการปวดศีรษะ ใจสั่น มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตและกดเจ็บ เช่น ที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าอาจกดเส้นเลือดทำให้นิ้วขาดเลือดมาเลี้ยงจนกระทั่งนิ้วดำ เนื้อตาย ถึงขั้นอาจต้องตัดทิ้ง

นอกจากพิษแล้ว ตะขาบบางพันธุ์ยังสามารถหลั่งสารเพื่อใช้ป้องกันตัว ออกจากต่อมซึ่งอยู่ข้างลำตัว แต่สารนั้นไม่เป็นอันตรายต่อคน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ถูกกัด อาจช่วยประทังอาการปวดได้ แต่ในบางรายกลับพบว่าการประคบด้วยความร้อนก็สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ สำหรับคนถูกกัด หากไม่ใช่ในรายที่มีอาการแพ้พิษ (คือมีอาการบวมมากและปวดมาก ซึ่งต้องรีบพบแพทย์) โดยทั่วไปให้การรักษาแบบประคับประคองก็เพียงพอ ได้แก่

1. ลดความเจ็บปวด อาจใช้ยาแก้ปวดตามความจำเป็น โดยยาที่แนะนำให้ใช้ คือ Paracetamol ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, indomethacin และ pyroxicam หรืออาจใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบตำแหน่งที่ถูกกัด

2. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

3. ตรวจหาอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อของแผล ที่อาจเกิดตามมา เห็นท่าไม่ดี เช่น บริเวณที่ถูกกัดบวม เนื้อเริ่มดำ ต้องพบแพทย์ทันที

ความรุนแรงของพิษ

โดยทั่วไปพิษตะขาบไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานการเสียชีวิตในเด็กหญิงฟิลิปปินส์อายุ 7 ขวบ 1 ราย เธอถูกตะขาบพันธุ์ Scolopendra subspinipes ขนาดยาว 23 เซนติเมตร กัดที่บริเวณศีรษะ

ข้อควรจำ เกี่ยวกับตะขาบ

1. ต้องสอนเด็กให้รู้จักตะขาบเพื่อไม่ใช้มือไปสัมผัสมันอย่างเด็ดขาด

2. สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้ไร่นาป่าสวน ในฤดูฝนต้องตรวจห้องนอน ห้องน้ำให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนอนกับพื้น ตะขาบอาจแอบอยู่ในผ้าห่มหรือใต้ฟูก

3. หากพื้นถนนมีน้ำนอง น้ำขัง หรือจำเป็นต้องเดินลุยเข้าไปในจุดที่น้ำท่วม ต้องใส่รองเท้าที่ห่อหุ้มเท้าไว้มิดชิด เช่น รองเท้าบู๊ตใส่หนีน้ำ (ต้องระวังตะขาบอาจแอบซุกอยู่ในรองเท้าด้วย)

4. เมื่อจะหยิบหรือล้วงสิ่งของจากที่มืด ก็ควรส่องไฟฉายเพื่อดูให้แน่ใจก่อนว่าปลอดตะขาบ

5. เวลาจะเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้ โดยเฉพาะกลางค่ำกลางคืน ให้ออกแรงสะบัดๆ ผ้าที่เก็บเสมอ เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน

วิธีไล่ตะขาบตามภูมิปัญญาไทย

1.ถ้าสะดวกให้เลี้ยงไก่ในบริเวณบ้าน

2.ปลูกต้นเสลดพังพอนตัวเมียรอบบริเวณบ้าน

3.ใช้ “น้ำส้มควันไม้” เนื่อง จากน้ำส้มควันไม้เข้มข้นมีส่วนผสมของน้ำมันทาร์และยางเรซินอยู่มาก จะส่งกลิ่นเหม็นคล้ายควันไฟรบกวนสัตว์และแมลงที่มีพิษต่างๆ หาซื้อได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์สำหรับการเกษตร

โดย น้าชาติ รู้ไปโม้ด นสพ.ข่าวสด