ยุงลาย โรคไข้เหลือง

รู้จัก! โรคไข้เหลือง อีกโรคเสี่ยงชีวิตที่มาจากยุงลาย

Home / สุขภาพทั่วไป / รู้จัก! โรคไข้เหลือง อีกโรคเสี่ยงชีวิตที่มาจากยุงลาย

ยุงลายนอกจากจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังเป็นพาหะนำ โรคไข้เหลือง หรือที่เรียกกันว่า ดีซ่าน ด้วย เป็นอีกหนึ่งโรคทีมีอัตราการเสียชีวิตสูง เพื่อเป็นการป้องกันโรคดังกล่าว ขอนำสาระความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เหลือง และวิธีการป้องกันมาให้ทุกคนได้อ่านเป็นข้อมูล

รู้จัก โรคไข้เหลือง และวิธีการป้องกัน

โรคไข้เหลือง (Yellow fever)

โรคไข้เหลือง หรือ ดีซ่าน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มียุงเป็นพาหะนำโรค สาเหตุที่เรียกว่าไข้เหลือง เพราะผู้ป่วยจะมีไข้ และมีตัวสีเหลืองๆ จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคไข้เลือดออก ติดต่อผ่านทางการถูกยุงที่มีเชื้อกัด ไม่มียาสำหรับรักษาโดยเฉพาะ แต่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ตลอดชีวิต

อาการของโรค

มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-6 วัน ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ ประ มาณ 3-6 วัน แบ่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้ว เป็น 3 กลุ่มคือ

1. ไม่แสดงอาการ มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วอาจไม่ปรากฏอาการ

2. แสดงอาการครั้งเดียว ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตรวจร่างกายจะพบ ใบหน้าดูแดงๆ ตาแดง หัวใจเต้นช้าเมื่อเทียบกับไข้ที่ขึ้นสูง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจะหายเป็นปกติ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น

3. แสดงอาการ 2 ครั้ง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการดังข้อ 2 เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงหลังจากที่อาการหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยจะกลับมีไข้สูงอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานตอบสนองต่อเชื้อไวรัส และทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลาย ได้แก่ ตับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้มีถ่ายอุจจาระสีดำ หรืออุจจาระเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือดได้

ในผู้หญิงอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หากมีเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยก็จะมีอาการชัก แขน-ขาอ่อนแรง หมดสติ โคม่า และทำให้เสียชีวิตได้ อวัยวะอื่น เช่น ไต เมื่อถูกทำลาย ผู้ป่วยก็จะมีอาการของไตวายเฉียบพลัน เช่น ปัสสาวะออกน้อย ตัวบวม และซึม หากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายตอบสนองรุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำจนถึงขั้นช็อก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วเหนื่อย หายใจเหนื่อยหอบ และตัวเขียวอาการเขียวคล้ำ

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ จะมีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ และให้สารน้ำทดแทนภาวะขาดน้ำ เป็นต้น หากใครได้ไปในประเทศที่มีความเสี่ยง( พบมากในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้) โดยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน แล้วพบว่าตนเองมีอาการไข้ อาเจียน ตัวเหลือง มีจุดเลือดออกตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกันโรค

  • ผู้ป่วยโรคไข้เหลืองไม่จำเป็นต้องแยกห้องอยู่ เนื่องจากการติดต่อไม่ได้เกิดจากคนสู่คนโดยตรง เพียงแต่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีรายงานของผู้ป่วยโรคไข้เหลือง หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง 95% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันภายใน 1 สัปดาห์
  • วัคซีนป้องกันโรค 1 เข็ม สามารถป้องกันโรคได้นาน 10 ปี หรืออาจอยู่ได้ถึงตลอดชีวิต ผลข้างเคียงพบน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน จึงไม่แนะนำให้ฉีดกับเด็กกลุ่มนี้
  • มี 17 ประเทศในแถบแอฟริกาที่มีแผนการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองในเด็กทั่วประเทศตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยฉีดให้แก่เด็กช่วงอายุ 9 เดือน
  • วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การปิดบ้านให้มิดชิด หรือมีมุ้งลวด นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุงเมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเข้าป่า การใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น ส่วนการควบคุมและกำจัดยุงพาหะ จะช่วยลดการเกิดโรคได้เฉพาะวงจรการติดต่อในเมือง ส่วนวงจรการติดต่อในป่า และป่ากึ่งเมืองนั้นคงไม่สามารถควบคุมได้

ที่มา: คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, haamor.com,  www.thaihealth.or.th