7 อาการ บอกสัญญาณเครียด – วิธีจัดการความเครียด การสร้างพลังบวก

สำหรับใครที่เริ่มรู้สึกเครียด กดดัน เหน็ดเหนื่อย หรือไม่มีแรงใจในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องเจอในแต่ละวัน ก่อนอื่นควรต้องเริ่มหันกลับมาโฟกัสที่ตัวเอง ลองประเมินสภาวะอารมณ์ในช่วงเวลาปัจจุบันของคุณว่าเป็นอย่างไรบ้าง และลองหาทางรับมือแก้ไข เพราะการมีภาวะเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจมีผลต่อสุขภาพร่างกายได้ในระยะยาว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายเผชิญความเครียดได้ดีกว่า

7 อาการ บอกสัญญาณเครียด – วิธีจัดการความเครียด

โดยเฉพาะเวลาเครียดร่างกายจะมีการผลิตอนุมูลอิสระมากขึ้น ดังนั้นการทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสามารถช่วยได้ เช่น ส้ม ฝรั่ง กีวี นอกจากรสชาติเปรี้ยวจะทำให้สดชื่นแล้วยังมีวิตามินซีสูง หรือเมล็ดทานตะวันและเมล็ดอัลมอนด์ มีวิตามินอีสูงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ นอกจากนี้ การทานผลไม้บางชนิดก็สามารถช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อได้ เช่น กล้วยหอม เพราะมีแร่ธาตุแมกนีเซียมและโพแทสเซียมที่สำคัญต่อการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ดี และที่ลืมไม่ได้คืออาหารเช้า เพราะอาหารเช้ามีส่วนสำคัญมากในการที่จะให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอในตอนเช้า เพื่อพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ต้องเจอในแต่วันและทำให้เรารู้สึกสดชื่นมีพลังงานไปจนถึงช่วงบ่าย

7 อาการ ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเครียด

ได้แก่ 1. รู้สึกเพลียๆ ไม่มีเรี่ยวแรงตลอด 2. นอนไม่ค่อยหลับหรือรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา 3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดสังเกต 4. รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรือรู้สึกถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว 5. อารมณ์และความรู้สึกขึ้นลงเร็ว หงุดหงิดง่าย 6. ไม่อยากพบปะพูดคุยกับใคร อยากอยู่คนเดียว เก็บตัว 7. ไม่มีสมาธิ หรือความสามารถในการคิด การจดจ่อหรือการตัดสินใจในการทำงานลดลง

เมื่อพบว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้ หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และส่งผลต่อสภาพจิตใจได้ในระยะยาว ลองใช้เทคนิค 4R ง่ายๆ ในการประเมินและรับมือกับความรู้สึกเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย

เทคนิค 4R จัดการความเครียด พร้อมสร้างพลังบวก

1. Recognize (ตระหนักรับรู้)

เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังเครียดกับแรงกดดันสูง ให้ลองหยุดพัก ดื่มน้ำเย็นๆ เติมความสดชื่น สูดหายใจให้เต็มปอด มองไปรอบๆ เพื่อพักสายตาหรือลองงีบหลับสัก 15-30 นาที ก็ช่วยได้ ถ้ารู้ว่ากำลังจะทำงานไม่เสร็จตามเวลา ให้จัดลำดับความสำคัญของกำหนดส่งงานอย่างเหมาะสม งานไหนต้องเร่งรีบให้ทำก่อน งานไหนไม่เร่งด่วน ให้ยืดกำหนดเวลาเสร็จออกไป และสุดท้าย ต้องเตือนตนเองเสมอให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งนึกถึงอดีต และไม่กังวลกับอนาคตจนเกินไป เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

2. Release (ระบาย)

เมื่อเกิดความเครียด ลองหายใจเข้าลึกๆ นับ 1-4 และหายใจออกยาว ๆ อย่างช้า ๆ โดยนับ 1-8 รวมทั้งลองเปิดใจพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่คุณไว้วางใจ หรือเขียนระบายความรู้สึกออกมา จะช่วยให้ใจเย็นและรับมือได้อย่างมีสติ

3. Refresh (ปรับเปลี่ยนตนเองให้คิดบวกและสดใส)

เรามักเป็นทุกข์เมื่อเกิดปัญหา แต่หากปรับมุมมอง ลองมองปัญหาให้เป็นเรื่องท้าทาย และค้นหาสิ่งดีๆ ท่ามกลางปัญหา ก็สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสได้ หากมีเวลาให้ลองมองสิ่งรอบตัว ชื่นชมดอกไม้ กลิ่นดิน แสงแดด ฝน ต้นไม้ ตลอดจนสิ่งดีๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือฟังเพลงโปรด ออกกำลังกาย เพิ่มความกระฉับกระเฉง หรือออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้าง

4. Reset (เริ่มตั้งความคาดหวังและแนวทางใหม่)

เมื่อรู้สึกสับสน ชีวิตยุ่งเหยิงนัก ให้หันกลับมาทบทวนเป้าหมาย และแนวทางในชีวิตอีกครั้ง บันทึกเป้าหมายที่เราต้องการลงในสมุดให้เห็นภาพชัดเจน พร้อมให้กำลังใจตนเองด้วยประโยคดีๆ เช่น “ไม่เป็นไร เอาใหม่ เราทำได้” หรือ “แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี” เพื่อสร้างพลังบวกให้เราต่อสู้กับอุปสรรค และพร้อมรับปีใหม่อย่างเข้มแข็ง

ข้อมูลโดย คุณณัชชา แสงสวัสดิ์ นักโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง