เพิ่งจะเข้าเดือนที่ 3 ของปี 2562 ก็มีเหตุการณ์นักศึกษากระโดดตึก ฆ่าตัวตายหลายราย อีกทั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดบ่อยขึ้น ทำให้เราสงสัย จนต้องกลับมามองย้อนดูถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายของนักศึกษา ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงเลือกที่จะจบชีวิตลง เพราะเป็นโรคซึมเศร้า หรือเพราะสาเหตุอื่นๆ
ครอบครัว และสังคมมีส่วนทำให้เกิดปัญหา วัยรุ่นฆ่าตัวตาย
วันนี้เป็นวันที่ 6 มี.ค. 62 ในเช้าวันนี้ได้มีเหตุสลดใจเกิดขึ้น มีคนพบศพนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ กระโดดตึกฆ่าตัวตายที่อาคารเรียน และถ้าย้อนไปเมื่อสองวันก่อน ก็มีนักศึกษาอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่กระโดดตึกฆ่าตัวตาย และถ้าย้อนต่อไปอีกนิด วันที่ 1 มี.ค. ก็เกิดเหตุการนักศึกษากระโดดตึกฆ่าตัวตายอีกเช่นเดิม ทั้งสามคนนี้เสียชีวิตด้วยวิธีการเดียว และเกิดเหตุห่างกันในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เราอยากที่จะหาสาเหตุ และแรงจูงใจ ซึ่งมีผลทำให้เด็กวัยรุ่นเลือกที่จะจบชีวิตลงด้วยตัวเองเช่นนี้
สาเหตุของการฆ่าตัวตาย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายอย่างแรกที่ทุกคนจะนึกถึงนั่นก็คือ โรคซึมเศร้า ใช่ไหมคะ แต่จากงานวิจัยที่เราไปอ่านมาก็พบว่าอันที่จริงแล้ว การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นนั้นมีหลายสาเหตุ เราจึงได้รวบรวมสาเหตุการฆ่าตัวตายเอาไว้ดังนี้
1. ปัจจัยส่วนบุคคล
– ลักษณะทางพันธุกรรม
จากงานวิจัยพบว่า พันธุกรรมมีผลต่อการฆ่าตัวตาย 17 – 45 % ถ้าหากมีญาติที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ลูกหลานรุ่นถัดไปก็มีโอกาสได้รับยีนชุดที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน อีกทั้งถ้ามี maoa gene ในระดับต่ำก็จะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม และ เพิ่มความไวต่อการถูกกระตุ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้อีกเช่นกัน
– มีอาการซึมเศร้ารุนแรง
สาเหตุที่พบบ่อยเวลาลงข่าวคนกระโดดตึก ฆ่าตัวตาย ซึ่งสาเหตุปัจจัยนี้มีผลต่อการฆ่าตัวตายมากถึง 49-64 % เพราะลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า คือรู้สึกเบื่อชีวิต จิตใจห่อเหี่ยว ทำให้คิดว่าแล้วจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้อยากตายขึ้นมาได้
– มีประวัติเคยฆ่าตัวตายมาก่อน
ผลงานวิจัยพบว่าวัยรุ่นที่เคยฆ่าตัวตายเพียง 1 ครั้ง ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายซ้ำถึง 15 ครั้ง 30 % ของผู้พยายามฆ่าตัวตายทั้งหมด ก็ยังคงพยายามฆ่าตัวตายอีก 2-3 ครั้งในปีเดียวกัน
– บุคลิกภาพ
ถ้าเป็นคนที่หวั่นไหวง่าย และเป็นคนที่ชอบเปิดเผย หรือเป็นคนก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น โกรธง่าย อารมณ์แปรปรวนง่ายไม่มั่นคง ไม่เป็นมิตร และวิตกกังวล เมื่อคนที่มีลักษณะตรงกับที่พูดถึงนี้ถูกกระตุ้นด้วยความสิ้นหวัง ก็ก่อให้เกิกความคิด และความพยายามที่จะฆ่าตัวตายได้
– แก้ปัญหาไม่ได้
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากในประเทศเกาหลีก็พบว่า วิธีการแกปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 1.08 เท่า
2. ปัจจัยด้านครอบครัว
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากจีนพบว่า ครอบครัวที่ส่งผลให้เด็กฆ่าตัวตาย จะเป็นครอบครัวที่พ่อแม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (เช่น มีการดุด่า การลงโทษทางรุนแรง การควบคุมลูกมากเกินไป ทำความคาดหวังของพ่อแม่ไม่สำเร็จ ฯลฯ) ส่วนการสำรวจจากวัยรุ่นเกาหลีพบว่าพ่อแม่ที่ทำหน้าที่ไม่ดี มีความเสี่ยงต่อการพยายามฆ่าตัวตาย แต่การเก็บผลการศึกษาจากไทยก็พบว่า วัยรุ่นที่ขาดความผูกพันกับพ่อ แม่ มีความเสี่ยงในการเกิดความคิดฆ่าตัวตาย 2.26 เท่า ซึ่งปัจจัยกระตุ้นด้านครอบครัวต่อการพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่น คือ การใช้คำพูดตำหนิที่รุนแรง พูดประชดไล่ให้ไปตาย
3. ปัจจัยด้านสังคม
– มีเพื่อนที่มีประวัติฆ่าตัวตาย หรือไม่มีเพื่อนเลย จากการศึกษาพบว่า การมีเพื่อนที่มีประวัติฆ่าตัวตาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการพยายามฆ่าตัวตาย ในวัยรุ่นชาย 1.71 เท่า วัยรุ่นหญิง เป็น 1.67 เท่า และคนที่ไม่มีเพื่อน แยกตัวจากสังคม ก็มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเช่นกัน ในกรณีที่ไม่มีเพื่อนทำให้วัยรุ่นหญิง เกิดพยายามในการฆ่าตัวตายได้ 2 เท่า
– การเลียนแบบ เวลาที่สื่อนำเสนอพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย แล้วสังคมก็ให้ความสนใจ จุดนี้ก็อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตาม เพื่อที่จะได้รับความสนใจ และได้รับการให้ความสำคัญจากสังคมบ้าง
แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญในการฆ่าตัวตาย
จากปัจจัยทั้งหมดที่เรานำเสนอไปก็มีหลากหลายมาก แต่การที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะตัดสินใจฆ่าตัวตายก็เกิดจากเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งด้านจิตใจ สภาพแวดล้อม ปัญหาที่เจอ ผลลัพธ์ของการกระทำ ฯลฯ ที่ทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งตัดสินใจที่จะกระโดดลงมาจากตึกสูงเพื่อจบชีวิตของตัวเอง
ที่มา : โรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต , วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย , thairath