ห้องน้ำ

7 ทริค เข้าห้องน้ำสาธารณะ อย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค

Home / สุขภาพทั่วไป / 7 ทริค เข้าห้องน้ำสาธารณะ อย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค

ห้องน้ำ ถือเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค เพราะเป็นที่รองรับของเสียจากการถ่ายหนัก ถ่ายเบา ยิ่งเป็นห้องน้ำสาธารณะ ที่ในวัน ๆ นึงมีผู้คนเข้าไปใช้กันมากมาย หากไม่รักษาความสะอาดอย่างถูกวิธีแล้ว อาจเสี่ยงได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็เป็นได้ วันนี้เรามีข้อควรรู้ เข้าห้องน้ำสาธารณะ อย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค จากหน่วยงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านและนำไปปฏิบัติเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี

เข้าห้องน้ำสาธารณะ อย่างไรให้ปลอดภัย

– – – – – – – – –

1. เลือกห้องน้ำที่ไม่ค่อยมีคนใช้

ถ้าเป็นไปได้ เลือกใช้ห้องน้ำที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งคนพลุกพล่านมากนัก เช่น ห้องน้ำในออฟฟิศชั้นที่มีพนักงานน้อย ๆ เป็นต้น

2. อย่าสัมผัสโดยตรง

ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำสาธารณะ ควรสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในห้องน้ำน้อยที่สุด เช่น เมื่อเปิดประตูเข้าไป อาจจะใช้ทิชชูวางบนลูกบิดแล้วหมุนเข้าไป เป็นต้น

3. ทำความสะอาดก่อนนั่งชักโครก

ก่อนนั่งควรทำความสะอาดฝาชักโครก ด้วยกระดาษทิชชูแบบเปียกชนิดฆ่าเชื้อ หรือพกกระดาษรองนั่งไปปูบนฝาชักโครกก่อนขับถ่าย ระวัง!! อย่าให้แผ่นรองเปียกน้ำเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคอาจจะแทรกซึมมากับน้ำได้

4. ใช้เวลาให้น้อยที่สุด

ใช้เวลาในการทำกิจธุระในห้องน้ำให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ชักโครก ควรเลือกดูห้องที่สะอาดที่สุด และหลังขับถ่ายเสร็จ ควรปิดฝาชักโครกก่อนกด เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายในอากาศ

5. ไม่เหยียบโถส้วม

ไม่ควรใส่รองเท้าขึ้นไปนั่งบนฝารองนั่ง หลายคนคิดว่าทำแบบนี้จะทำให้ไม่สัมผัสกับเชื้อโรคบนชักโครก แต่จริง ๆ แล้ว ระหว่างที่ขับถ่ายอาจจะมีการกระเด็นของน้ำในโถ ซึ่งเป็นที่รวมเชื้อโรคได้มากกว่าการนั่งธรรมดาเสียอีก!!

ภาพ: Filios Sazeides

6. ไม่ตักน้ำที่เปิดไว้มาใช้ล้างทำความสะอาด

ไม่แนะนำให้ตักน้ำที่อยู่ในถังเดิมมาใช้ล้างทำความสะอาด ควรใช้ขันรองจากก๊อกโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในถังน้ำ เพราะบางคนเอามือจุ่มล้างในถัง หากเป็นสายฉีดก็ควรฉีดน้ำให้ไหลทิ้งประมาณ 1 นาที เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปะปนบริเวณรอบ ๆ สายฉีด

7. ล้างมือทุกครั้งหลังเสร็จธุระ

เพื่อไม่ให้เชื้อโรคติดมากับมือ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ วิธีการล้างมือให้เริ่มต้นล้างมือโดยฟอกฝ่ามือด้านหน้า ด้านหลัง ง่ามนิ้วมือด้านหน้า ด้านหลัง ฟอกนิ้วมือและข้อนิ้วมือด้านหลัง รวมทั้งฟอกหัวแม่มือ ขัดสิ่งสกปรกบริเวณซอกเล็บ และข้อมือ ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือ หากไม่มีสบู่ ก็ใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำหลาย ๆ ครั้งหน่อยนะ เพื่อความปลอดภัย

ข้อมูลจาก : หน่วยงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ

บทความแนะนำ