โรคข้ออักเสบ โรคเกาต์

2 เมนูอร่อยทำง่าย เลี่ยง ข้ออักเสบ & เกาต์ – น้ำพริกปลาดุกย่าง ลาบเต้าหู้

Home / สุขภาพทั่วไป / 2 เมนูอร่อยทำง่าย เลี่ยง ข้ออักเสบ & เกาต์ – น้ำพริกปลาดุกย่าง ลาบเต้าหู้

โรคข้ออักเสบและเกาต์ย่อมส่งผลให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการป้องกันโรคข้ออักเสบและเกาต์เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ยิ่งคนที่ป่วยด้วยโรคเกาต์และข้ออักเสบอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งต้องดูแลอาหารการกินต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเลือกและควบคุมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ห่างไกลหรือบรรเทาอาการจากโรคให้เบาลงได้

2 เมนูอร่อยทำง่าย เลี่ยง ข้ออักเสบ & เกาต์

เกี่ยวกับโรคเกาต์

นักกำหนดอาหาร และคลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเกี่ยวกับโรคเกาต์ว่า “โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ และข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเก๊าท์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น

โรคเกาต์จะมีอาการของข้ออักเสบเฉียบพลัน ข้อจะบวมแดงและร้อน บางรายอาจมีไข้ ในระยะแรก อาการของโรคจะเป็นๆ หายๆ ถ้าไม่เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ข้อที่อักเสบก็จะกำเริบบ่อยๆ เป็นนานขึ้น และเป็นหลายข้อพร้อมกันได้

ผู้ที่เป็นโรคเกาต์มานาน ไม่เข้ารับการรักษาให้ถูกต้อง จะมีการตกผลึกกรดยูริกเพิ่มมากขึ้น ตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ จะเป็นปุ่มก้อนใต้ผิวหนังได้ บริเวณที่พบได้บ่อย เช่น หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ ใบหู เป็นต้น อาการของโรคไตจากการเป็นโรคเกาต์มานาน อาจเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก จนเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อของไต ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง และภาวะไตวายได้

โรคข้ออักเสบ (Arhritis) 2 ชนิด ที่พบบ่อย

ขณะที่โรคข้ออักเสบ (Arhritis) ที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ โรคข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบเรื้อรัง (Osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือปวดข้อรูมาตอยด์ (The Rumatoid arthritis) โรคข้อเสื่อมนั้นเกิดจากความทรุดโทรมของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อกระดูกค่อยๆ หายไป ทำให้ข้อกระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหว จนเกิดอาการข้อยึด ส่งผลให้ปวดบริเวณข้อ โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็น

ส่วนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของร่างกาย เกิดการทำลายข้อต่อกระดูกของตนเอง และโรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย และเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ไปตลอด

ดูแลสุขภาพเพื่อบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์

การดูแลสุขภาพเพื่อบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์ด้วยการรับประทานอาหาร ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมีข้อแนะนำดังนี้

1.) ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เพราะช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกและลดอาการอักเสบตามข้อได้ มีข้อมูลจากงานวิจัยปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 6 และ กรดโอเมก้า 3 ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดของไทย พบว่าปลาดุกมีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.46 กรัม มากกว่าปลากะพงขาว ซึ่งพบ 0.40 กรัม และต้องเลือกวิธีปรุงให้ถูกต้อง เพราะโอเมก้า 3 จะสูญสลายไปได้ง่ายหากผ่านความร้อนสูงจึงควรหลีกเลี่ยงการทอด

2.) รับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด โดยควรรับประทานผักต่าง ๆ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันและควรบริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป โดยเน้นโปรตีนไขมันต่ำ โปรตีนจากพืช

3.) หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น

4.) กินผลไม้สด เลี่ยงน้ำผลไม้เพราะมีน้ำตาลสูง

5.) ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 8 – 10 แก้วต่อวัน

6.)หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ยกตัวอย่างเมนูอาหารทำง่ายเพื่อเลี่ยงโรคข้ออักเสบและเกาต์ เริ่มที่เมนูแรก

น้ำพริกปลาดุกย่าง

น้ำพริกปลาดุกย่าง

เริ่มต้นจากผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว และใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน คั่วพริกแห้ง หอมแดง กระเทียมพอเกรียม ตำพริกหยาบๆ ใส่หอมแดง กระเทียมตำให้ละเอียด ใส่เนื้อปลาดุกย่างลงไปตำรวมกันให้ละเอียด ปรุงรส น้ำปลา น้ำมะขาม น้ำตาล ชิมรสตามชอบ รับประทานแกล้มกับผักสดหรือผักลวก

และเมนูที่ 2 คือ

ลาบเต้าหู้

ลาบเต้าหู้

โดยใช้ส้อมยีเต้าหู้ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วคั่วในกระทะจนแห้ง ผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว และใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน รับประทานแกล้มกับผักสด เป็นเมนูสุขภาพที่ได้คุณประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงโรคข้ออักเสบ & เกาต์ และวิตามินและแร่ธาตุจากผักและปลาไปพร้อมๆ กัน

เพราะอาการปวดข้อ ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้ออักเสบหรือเกาต์ ดังนั้นการใส่ใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารคือหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็วเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

บทความแนะนำ