บาดแผล โรคเบาหวาน

ทำความเข้าใจเรื่อง บาดแผลเรื้อรัง – การปฐมพยาบาลเบื้องต้นถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญ

Home / สุขภาพทั่วไป / ทำความเข้าใจเรื่อง บาดแผลเรื้อรัง – การปฐมพยาบาลเบื้องต้นถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญ

บาดแผลโดยทั่วไปพบได้ 2 แบบคือ บาดแผลเฉียบพลัน คือแผลที่เกิดขึ้นทันที แผลจะหายได้ไว อีกแบบหนึ่งคือ บาดแผลเรื้อรัง คือ บาดแผลที่ไม่สามารถหายตามกระบวนการหายของแผลตามปกติ และเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะการรักษาอย่างถูกวิธีมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้แผลเรื้อรังหายได้เร็วยิ่งขึ้น

บาดแผลเรื้อรัง ปล่อยไว้นานยิ่งอันตราย

กระบวนการหายของแผลเรื้อรัง ต่างจากแผลเฉียบพลัน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 ห้ามเลือดให้เลือดหยุด 1-3 วัน ระยะที่ 2 ระยะของการอักเสบไม่เกิน 1 สัปดาห์ ระยะที่ 3 ระยะเสริมสร้างเนื้อเยื่อ 2-3 สัปดาห์ และระยะที่ 4 ระยะปรับสภาพ

สำหรับแผลเรื้อรัง ในกระบวนการหายของแผลจะอยู่ในช่วงของแผลเฉียบพลันระยะที่ 2 คือ ระยะของการอักเสบแล้วไม่ก้าวผ่านไปเป็นระยะที่ 3 หรือระยะเสริมสร้างเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อใหม่ไม่เกิดขึ้น

ฉะนั้นการรักษาแผลเรื้อรังจึงยากกว่าแผลเฉียบพลัน เพราะต้องแก้ไขสภาวะให้ก้าวผ่านระยะที่เป็นแผลอักเสบไปให้ได้

อีกประเด็นสำคัญคือ สาเหตุที่พบบ่อยของแผลเรื้อรัง อันดับหนึ่งคือ แผลเบาหวาน โดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า ถัดมาคือ แผลกดทับ แผลจากหลอดเลือดดำเสื่อม และหลอดเลือดแดงตีบตัน รวมถึงแผลจากอุบัติเหตุ ที่ไม่รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก เพราะการดูแลรักษาแผลเรื้อรังนั้นมีความละเอียดซับซ้อน ต้องแก้ไขสาเหตุของแผลร่วมด้วย

แผลกดทับ

นอกจากการรักษาความสะอาดและการทำแผลอย่างถูกวิธี รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว ยังมีเครื่องมือ เทคโนโลยีการรักษาเข้ามาช่วยลดผลกระทบของบาดแผล ให้แผลหายได้ในเร็ววัน ซึ่งต้องรักษาโดยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เพื่อการวินิจฉัยได้ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละกรณี

แผลเบาหวาน ดูแลให้ดีก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่เพียงเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อน แต่ยังหมายถึงโอกาสในการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือ หากผู้ป่วยเบาหวานมีบาดแผลอาจติดเชื้อลุกลามได้ง่ายและหายยาก ควรใส่ใจดูแลบาดแผลอย่าละเลยอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้แผลเบาหวานเป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีไขมันที่ไม่ย่อยสลายไปจับกับเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและแข็งเกิดการอุดตันในที่สุด ทำให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง

ระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลง

นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลง หรือไม่ได้เลย ทำให้เท้าชา ไม่รู้สึกเจ็บ จึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานมีแผลกว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว อีกทั้งการที่ระบบประสาทสั่งการผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เท้าผิดรูป เท้าบิดเบี้ยว เนื้อบริเวณปุ่มกระดูกบางแห่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น เกิดเป็นแผลได้เช่นกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแผลเบาหวานส่วนใหญ่เกิดที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีเส้นเลือดตีบและอาการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการชาเมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก จนเมื่อบาดแผลรุนแรงทำให้รักษายาก หายช้าจนถึงขั้นร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า

ย้ำว่า อันตรายของแผลเบาหวานนั้น คือปัญหาเรื้อรังรักษายาก ยิ่งถ้าคนไข้ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะหายยาก แผลหายยาก หายช้า หรืออาจไม่หายก็เป็นได้ กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งมีโอกาสเกิดเนื้อตาย จากเส้นเลือดแดงส่วนปลายตีบ นำไปสู่การสูญเสียนิ้วหรือขาได้

แผลจากอุบัติเหตุ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ แผลจากอุบัติเหตุ การดูแลรักษาบาดแผลที่บาดเจ็บจากความร้อน ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ ไฟคลอก น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าช๊อต ฟ้าผ่า ภยันตรายจากการสูดควันร้อน ภยันตรายจากสารเคมี บาดแผลไฟไหม้ที่ถือว่าหนักที่สุดคือ แผลไหม้พื้นผิวร่างกายมากกว่า 20% เนื่องจากเนื้อเยื่อที่โดนความร้อนเซลล์จะตาย จึงต้องลดความร้อนให้เร็วที่สุดภายใน 15 นาทีแรก เพราะยิ่งลดความร้อนได้เร็วที่สุด เนื้อเยื่อหรือเซลล์อาจจะรอดตายได้

บาดแผลเรื้อรัง ปล่อยไว้นานยิ่งอันตราย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญ

กรณีโดนสารเคมีรุนแรง

หากเป็นกรณีโดนสารเคมีรุนแรงจะเป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาในไอซียูโดยทันที เป้าหมายของการดูแลรักษาแผลไฟไหม้ สิ่งสำคัญคือ ควบคุมการไหลของเลือด กำจัดวัสดุแปลกปลอมอันจะเป็นสาเหตุการติดเชื้อ กำจัดเนื้อตายและหนอง ปรับสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการหายของแผล เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดด่าง ป้องกันแผลจากอันตราย เช่น การกระแทก เชื้อโรค เป็นต้น

พลิกตัว ลดการกดทับ

เพราะไม่มีใครอยากได้รับบาดเจ็บในชีวิตประจำวัน แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วเกิดบาดแผลรุนแรงในระดับที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลแบบใดก็ตาม จะช่วยเยียวยาบาดแผลให้ดีขึ้นและพร้อมสำหรับการรักษาอย่างถูกวิธีกับแพทย์ต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 1719

นพ.อรรถ นิติพน

ขอบคุณข้อมูลโดย นพ.อรรถ นิติพน ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ