พาราเซตามอล ยาสามัญประจำบ้าน ยาแก้แพ้

10 ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว หลักการเลือกพกยา การใช้ยา และข้อควรระวัง

Home / สุขภาพทั่วไป / 10 ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว หลักการเลือกพกยา การใช้ยา และข้อควรระวัง

อยากไปเที่ยว แต่ก็กังวลโควิด บางคนอาจจะมีโรคประจำตัว หรืออุบัติเหตุ รวมถึงอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องนึกถึง วันนี้แคมปัสสตาร์มีคำแนะนำ เกี่ยวกับการพกยาสามัญสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ควรมีติดกระเป๋าไว้ ไปเที่ยวไหนๆ รู้จักใช้ เที่ยวสบายใจแน่นอน อ่าน ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว

10 ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว

เภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แขกรับเชิญรายการ Rama Variety ใน RAMA Chanel ขับเคลื่อนสังคมไทยให้สุขภาพดี ให้คำแนะนำถึงหลักง่ายๆ ของการเลือกพกยาติดตัวไปเที่ยว รวมทั้งการใช้ยาแต่ละชนิด ซึ่งมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

หลักการเลือกพกยา การใช้ยา และข้อควรระวัง

1. ยาโรคประจำตัว

เป็นยาสำคัญอันดับแรกที่จะลืมไม่ได้ เพราะต้องกินต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ จึงต้องพกติดตัว และเตรียมให้มีจำนวนที่เพียงพอตลอดการท่องเที่ยว

2. พาราเซตามอล (Paracetamol)

เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัวเมื่อไหร่ แต่การกินพาราเซตามอลมีข้อควรระวัง ไม่กินเกินขนาดที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปการกินแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อครั้ง ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรกินพาราเซตามอลครั้งละไม่เกิน 500 มิลลิกรัม และกินแต่ละครั้งต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การกินพาราเซตามอลเกินพอดี (150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายในครั้งเดียว หรือกินต่อเนื่องภายใน 1-2 วัน หรือ เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายใน 3 วัน ไม่เพียงไม่ช่วยให้ผลการรักษาที่มากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง ความดันลดลง หรือในบางรายที่กินเกินมากๆ อาจทำให้การทำงานของตับและไตเสียได้)

3. ยาแก้แพ้

สำหรับกรณีที่ร่างกายปรับตัวไม่ทันหรือไปสัมผัสบางสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการน้ำมูกไหล คันหรือผื่นขึ้นตามตัว โดยยาแก้แพ้มีทั้งชนิดกินแล้วง่วงนอนและกินแล้วไม่ง่วง จึงต้องเลือกดูให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

ที่สำคัญคือ ห้ามกินยาแก้แพ้ร่วมกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกลุ่มยาระงับประสาทโดยเด็ดขาด

4. ยาเกี่ยวกับท้องเสีย ท้องอืดฯ

ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กรณีการใช้ยารักษาอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ มีตัวเลือกเช่น ยาผงถ่าน คือถ่านกัมมันต์หรือถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal) ซึ่งมีข้อควรระวัง ต้องกินห่างจากยาชนิดอื่นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาชนิดอื่นลดลง หรือ ผงโออาร์เอส (ผงเกลือแร่ชดเชยปริมาณน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป)สำหรับรายที่อาการรุนแรง มีไข้ ติดเชื้อ อาจต้องรีบไปพบแพทย์

ขณะที่การใช้ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มักใช้ตามอาการ และต้องดูคำแนะนำที่ข้างซอง บางชนิดต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน

10 ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว หลักการเลือกพกยา การใช้ยา และข้อควรระวัง

5. ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ

ยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ สำหรับขาลุย บ่อยครั้งที่การเดินตะลุยเที่ยวนำมาซึ่งการอ่อนล้าส่งผลให้เกิดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างไม่สะดุด สามารถยืนหยัดเที่ยวกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้ตลอดทริปในทุกเส้นทาง ยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยาคลายกล้ามเนื้อจึงเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการได้ดี

สำหรับยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีข้อควรระวัง คืออาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ฉะนั้นจึงต้องกินหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ ยกเว้นในคนไข้ที่มีข้อห้ามจำกัดการดื่มน้ำต่อวัน

6. ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน

เป็นยาในกลุ่มเดียวกัน แล้วแต่การเลือกใช้ในแต่ละบุคคล ยากลุ่มนี้กินแล้วมักมีผลทำให้ง่วงนอน วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการมึนศีรษะ

โดยต้องกินก่อนเริ่มกิจกรรม/การเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ควรพกถุงก็อบแก๊บติดตัวไว้สำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ไม่รบกวนคนข้างๆ ด้วยนะคะ

7. โลชั่นกันยุง

จะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งหรือในร่ม ย่อมหมดสนุกถ้ามีแขกไม่ได้รับเชิญตัวน้อยคอยป่วนให้กวนใจ โลชั่นกันยุงและแมลงช่วยได้ ปัจจุบันนอกจากมีชนิดสเปรย์ โลชั่น ผ้าเปียก ยังมีชนิดที่เป็นแผ่นแปะหรือแบบสติกเกอร์ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส เปลือกส้ม ฯลฯ สามารถเลือกใช้ตามความชอบ ทั้งสะดวกและปลอดภัยอีกด้วย

8. ชุดยาทำแผลสด

ยาทำแผลสด เช่น เบตาดีน น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ล้างแผล (หรือจะพกแค่เบตาดีนอย่างเดียวก็ได้ เพราะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย) และพลาสเตอร์ยาปิดแผลควรมีติดกระเป๋าไว้เป็นดีที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำลี ผ้าก็อตเพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

9.ยาแต้มสิว

เมื่อต้องอยู่ในสถานที่แปลกที่แปลกถิ่น การต้องนอนดึกตื่นแต่เช้า ปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะ หรือแม้แต่น้ำที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายอาจทำให้ผิวระคายเคือง ส่งผลทำให้สิวขึ้นได้ ยาแต้มสิวจึงควรมีไว้เพื่อความมั่นใจในทุกครั้งที่เสียงชัตเตอร์ลั่น

10. อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับโควิด

เจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย  ถือเป็นของสำคัญประจำตัวที่จะขาดไม่ได้เลยในยุคนี้ เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงและมีสำรองไว้ทุกครั้งที่ก้าวเท้าออกจากบ้าน

รู้อย่างนี้แล้ว จะร้อนนี้หรือร้อนไหน ทะเล ป่าหรือภูเขาก็ไม่หวั่น สวยเริ่ดและพร้อมเสมอ ลุยกันได้เลย

10 ยาสามัญ สำหรับนักท่องเที่ยว หลักการเลือกพกยา การใช้ยา และข้อควรระวัง

บทความแนะนำ