“โรคทางจิตเวช” เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคม ไม่ต่างกับโรคทางกาย หากแต่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ โรค “จิตเวช” ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลนี้อาจจะทำให้ใครหลายคนละเลย หรือหลงลืมการดูแลจิตใจที่ถูกกระทบจากความเครียด ความรวดเร็ว และไม่แน่นอน
โรค “จิตเวช”
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต[1] กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงตัวเลขภาพรวมผู้ป่วยจิตเวชว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ข้อมูลถึงเดือนเมษายน) มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา (ผู้ป่วยนอก) ประมาณ 1.70 แสนคน หากย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยฯ ประมาณ 2.91 แสนคน และปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีผู้ป่วยฯ อยู่ประมาณ 2.65 แสนคน
นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “สำหรับผู้ป่วยโรคจิตเวชโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น และการรักษาจะคล้ายกับโรคเรื้อรัง กล่าวคือต้องอาศัยการดูแล และทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้เพื่อใช้ในการรักษา เพราะยารักษา
โรคทางจิตเวชจำนวนไม่น้อยยังอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ”
ต้องรักษาต่อเนื่อง แบกค่าใช้จ่ายสูง เพราะยาจำนวนไม่น้อยอยู่นอกบัญชี
การรักษาโรคทางจิตเวชจะเป็นการรักษาแบบโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาต่อเนื่องจะช่วยให้อาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่อาการก็อาจกำเริบขึ้นได้เมื่อขาดยา ถูกกระตุ้นโดยความเครียด อดนอน หรือบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้การรักษาจะมีค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และอาจนำไปสู่การยุติการรักษาของผู้ป่วยได้
“ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาค่อนข้างสูง เพราะส่วนหนึ่งยาที่นำมาใช้ในการรักษาจำนวนไม่น้อย ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมียาบางชนิดที่อยู่ในบัญชียาหลัก แต่สำหรับผู้ป่วย ที่เป็นโรคที่มีความซับซ้อน อาจต้องอาศัยการรักษาด้วยยาหลายชนิด ซึ่งไม่สามารถใช้เพียงยา ในบัญชียาหลักได้ จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี นี่ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแล้วว่าจะบริหารจัดการเรื่องยาอย่างไร”
อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็ยังมี “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” ภายใต้มูลนิธิรามาธิบดีฯ คอยช่วยเหลือ ผู้ป่วยที่แบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ไหว ให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ ซึ่งโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้นั้น ครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท รวมไปถึงผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตัวเลขของผู้ป่วยยากไร้จะพบว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยถึง 13.5% ที่ได้รับที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ในขณะที่ตัวเลขของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม) จะพบว่ามีผู้ป่วยถึง 16.5% ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคจิตเวชด้วย
สุขภาพใจสำคัญไม่แพ้กาย
“เรื่องสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญที่เทียบเท่าได้กับสุขภาพกาย แม้บางครั้งอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนก็เห็นแล้วว่าสำคัญ แต่ก็อยากจะเน้นย้ำว่า เมื่อสุขภาพจิตไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกาย และสุขภาพทางสังคมด้วย ฉะนั้นไม่อยากให้ลืมเรื่องนี้”
นพ.กานต์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า การดูแลสุขภาพจิตสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็น การหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ตระหนักรู้ถึงสาเหตุของอารมณ์ และความเครียด รวมไปถึงการออกกำลัง การพูดคุยกับคนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
“อีกอันหนึ่งคือการฝึกการรับรู้อารมณ์ของเราเรื่อย ๆ ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร พอรับรู้แล้วก็คล้าย ๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน เปิดรับ ยอมรับว่าบางครั้งเราก็มีความทุกข์ มีวันที่อารมณ์ดี มีวันที่อารมณ์ไม่ดีเพราะเราก็เป็นมนุษย์”
“โรคทางจิตเวช” เกิดขึ้นได้กับทุกวัย
สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เช่น โรคสมาธิสั้นสามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่น โรคอารมณ์สองขั้ว สามารถพบได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนถึงตอนปลาย ส่วนโรคสมองเสื่อม ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวชที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ
โรคทางจิตเวชแบ่งได้หลายแบบ
อย่างไรก็ดี โรคทางจิตเวชสามารถแบ่งได้หลายแบบ หากแบ่งตามอาการจะแบ่งได้หลัก ๆ เป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. โรคที่มีอาการด้านพฤติกรรมผิดปกติ 2. โรคที่มีอาการด้านอารมณ์ผิดปกติ 3. โรคที่มีอาการด้านความคิดผิดปกติ 4. โรคที่มีอาการด้านการทำงานของสมอง ผิดปกติ (ความจำ สมาธิ การวางแผน การตัดสินใจ ฯลฯ) และ 5. โรคทางจิตเวชที่แสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย แต่ทั้งนี้โรคทางจิตเวชบางโรค ก็มีอาการคาบเกี่ยวกันหลายด้านได้เช่นกัน
นพ.กานต์ อธิบายว่า “ปัจจุบันโรคซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งโรคที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายหรือไม่ก็จะมีวิธีการประเมินอารมณ์ตนเองเบื้องต้น เช่น สังเกตว่าอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือไม่ หรือถูกทักจากคนรอบข้าง ว่ามีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เข้าสังคม รู้สึกไม่มีพลังหรือไม่ รวมไปถึงมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็นการนอน หรือการรับประทานอาหาร ขาดสมาธิเป็นต้น”
“นอกเหนือจากนั้นก็จะมีแบบคัดกรองที่หาได้ทั่วไปตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็มีแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าที่สามารถหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อนำมาคัดกรองเบื้องต้นได้โดยพิมพ์ค้นหาว่า PHQ-9” มาร่วมกันดูแลสุขภาพใจ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทางร่างกาย และร่วมดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ทางการบริจาคเงินสมทบทุนโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ
คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด
นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่มา www.rama.mahidol.ac.th