สมอง เคล็ดลับ

6 วิธีออกกำลังกายสมองให้สนุก ช่วยพัฒนาสมองและประสาทสัมผัส

Home / สุขภาพทั่วไป / 6 วิธีออกกำลังกายสมองให้สนุก ช่วยพัฒนาสมองและประสาทสัมผัส

เมื่อไหร่ที่พูดถึงการออกกำลังกาย หลายคนมักจะนึกถึงการดูแลสุขภาพร่างกาย ตั้งแต่ช่วงคอลงไป แต่รู้ไหมคะว่า “สมอง” ก็ออกกำลังได้เหมือนกันนะ แต่หากใครที่ได้ยินคำว่า “ออกกำลัง” แล้วพาลอ่อนเพลีย ละเหี่ยใจละก็ ขอบอกว่าการออกกำลังสมองเป็นเรื่องสนุกกว่านั้นค่ะ

6 วิธีออกกำลังกายสมองให้สนุก

เกมปริศนาประลองเชาว์ปัญญา

อาทิ จับผิดภาพ ต่อจิ๊กซอว์ ต่อคำอักษรไขว้ หมากรุก หรือแม้แต่การอ่านหนังสือแนวสอบสวน หรือเกมซูโดกุ ก็ช่วยฝึกสมองได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่สนุกแต่ยังเป็นการฝึก “มองในภาพรวม” ซึ่งต้องอาศัยการทำงานประสานกันเป็นทีมเวิร์คของระบบต่างๆ ในร่างกาย ช่วยพัฒนาเซลล์สมองและประสาทสัมผัสได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมคาราโอเกะสุดโปรด ที่มีเนื้อเพลงวิ่งใต้ภาพ

ลองเปลี่ยนมาเป็นลิปซิงค์สดๆ แบบไม่ต้องใช้ตัวช่วยดูบ้าง การฝึกจำเนื้อเพลงจะทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับการฟัง ช่วยฝึกทักษะการทำความเข้าใจและการคิด สามารถจำอะไรได้ยาวขึ้น ไม่ขี้หลงขี้ลืมง่าย เมื่อเราจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ร่างกายจะปลดปล่อยสารสื่อประสาทสำคัญที่ชื่อ Acetylcholine ออกมา หากอยากห่างไกลอาการสมองเสื่อมก็ได้เวลาจับไมค์กันแล้วล่ะค่ะ แต่แนะนำว่าเลือกเพลงสนุกสนานผ่อนคลายแทนเพลงเศร้าเคล้าน้ำตาจะดีกว่านะคะ

ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับดนตรี แม้จะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะเพลิดเพลินไปกับการเล่นดนตรีได้ทั้งนั้น ทั้งผ่อนคลายแถมยังบริหารหลายส่วนในร่างกายตั้งแต่สมอง ประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การฟังและทำความเข้าใจตัวโน้ตที่ต้องสัมพันธ์กัน เห็นไหมว่าดนตรีให้อะไรมากกว่าความสนุกจริงๆ

เปลี่ยนโทรศัพท์

อ๊ะๆ ไม่ได้หมายถึงโทรศัพท์มือถือหรอกนะคะ แต่หมายถึงเปลี่ยนข้างมือที่ถนัดในการ ถือ หยิบ จับสิ่งของต่างๆ หรือในการทำกิจกรรมประจำวันดูบ้างต่างหาก หรือให้สนุกกว่านั้น ลองหัดเล่น Juggling หรือการโยน ควงสิ่งของต่างๆ เช่น กระบอง ลูกบอล ห่วง เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของซีกซ้ายและขวาให้ลงตัว เซลล์ประสาทจะเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ผลที่ได้คือความตื่นตัวและการเคลื่อนไหวที่ว่องไวและแม่นยำมากขึ้น

การสัมผัสธรรมชาติ

คือ แบตเตอรี่ชั้นเยี่ยมที่ปลุกร่างกายให้สดชื่น กระปรี้ประเปร่า ผลพลอยได้คือเมื่อเราเดินไปบนทางที่สูงๆ ต่ำๆ หรือตะปุ่มตะป่ำตามธรรมชาติ จะพัฒนาระบบประสาทหูชั้นในที่คอยส่งสัญญาณสู่สมองตลอดเวลาเพื่อการทรงตัวที่สมดุล หากการทำงานของประสาทหูชั้นในทำงานได้ดี ระบบการทำงานของสมองก็มีประสิทธิภาพตามไปด้วย อีกวิธีออกกำลังสมองท่ามกลางธรรมชาติก็คือ ลองหยุดพักนิ่งๆ เช่นนั่งบนเก้าอี้ในสวนสาธารณะแล้วทอดสายตาออกไปข้างหน้า ดูว่ามีอะไรเคลื่อนไหวผ่านไปมาบ้างโดยไม่ต้องเคลื่อนไหวดวงตาของเรา จากนั้นบันทึกลงสมุดว่ามองเห็นอะไรบ้าง วิธีง่ายๆ แค่นี้ ช่วยฝึกได้ทั้งการมองเห็น สมาธิ และความจำในคราวเดียว

การสร้างบรรยากาศเงียบสงบ

มีอุณภูมิพอเหมาะและไม่สว่างจ้าเกินไป คือบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการนอนหลับ ลองปิดทีวีหรือวิทยุแล้วเข้านอนเร็วขึ้นสักหน่อย หันมาเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ คลอ หรือลูบไล้ผิวกายด้วยโลชั่นกลิ่นหอมอ่อนๆ ชวนผ่อนคลายอารมณ์ ก็พร้อมเพลิดเพลินไปกับห้วงนิทราอันแสนสุข ระหว่างที่เรานอนหลับนั้นสมองจะรวบรวมความรู้และความทรงจำต่างๆ หากนอนหลับอย่างเพียงพอแล้วสมองของเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และจัดเก็บเข้าสู่ความจำระยะยาว (long-term memory) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม คนที่นอนไม่พอบ่อยๆ จะกลับกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมและเรียนรู้อะไรได้ช้าลง

จาก dhc.co.th

บทความแนะนำ