คนที่ต้องยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อย่างพนักงานตามห้างฯ หรือสาว ๆ ขาช้อปที่เดินบนส้นสูงหลาย ๆ ชั่วโมงอาจเคยประสบกับปัญหา ปวดส้นเท้า ปวดฝ่าเท้า รู้หรือไม่ว่านั่นคืออาการของโรครองช้ำ วันนี้เรามี โรครองช้ำ เป็นแล้วช้ำ! สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา มาฝาก รู้เร็วแก้ไว หายขาดได้ ไปดูกันได้เลยจ้า
โรครองช้ำ เป็นแล้วช้ำ ! สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
รองช้ำคืออะไร?
โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า รองช้ำ คือ เอ็นใต้ฝ่าเท้าเกิดการอักเสบ พบได้บ่อยโดยเฉพาะเพศหญิง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดที่ส้นเท้ามากกว่าปกติ
เช็กอาการ
- ปวดหรือเจ็บส้นเท้า ในตอนเช้าที่ลุกออกจากที่นอน
- ปวดหรือเจ็บส้นเท้า ตอนที่เริ่มเดินก้าวแรกหลังจากนั่งเป็นเวลานาน ๆ
- ปวดฝ่าเท้า หรือส้นเท้าเมื่อเดินลงน้ำหนัก
- ปวดฝ่าเท้า เมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อพักแล้วอาการปวดดีขึ้น แต่มีอาการเรื้อรังเป็นเดือน
สาเหตุ
- รูปร่างเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าโก่ง หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
- ยืนนาน เดินเยอะ ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก
- น้ำหนักตัวมาก ทำให้เท้าต้องรับน้ำหนักมาก
- รองเท้าไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าพื้นบาง หรือรองเท้าที่ไม่มีพื้นรองส้นเท้า
- ลักษณะการทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกาย การเดิน/วิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิมหรือบนพื้นผิวแข็ง (เช่น พื้นซีเมนต์หรือคอนกรีต)
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
- ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง
ท่าบริหารเอ็นร้อยหวาย
แก้อาการด้วยตัวเอง
- ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด เช่น ลดการยืนหรือเดินนานๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ลงฝ่าเท้า
- นวดบริเวณฝ่าเท้า โดยใช้มือ หรือเหยียบคลึงลูกเทนนิส
- แช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที
- บริหารเอ็นร้อยหวาย และพังผืดฝ่าเท้า จะช่วยทั้ง รักษาและป้องกันการเกิดโรคนี้ได้
- ใช้แผ่นรองเท้าที่อ่อนนุ่ม หรือเลือกรองเท้าที่เหมาะสม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าลองรักษาอาการด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: bumrungrad