“ปวดท้องมากขนาดนี้ เป็นไส้ติ่งหรือเปล่า” เราอาจจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้กันมาบ้าง เมื่อตัวเราเอง หรือคนที่อยู่ข้างๆ เรามีอาการปวดท้องมากๆ แต่อาการปวดท้องเป็นอาการเบื้องต้นของหลายๆ โรค แล้วอาการแบบไหนถึงจะเป็นอาการปวดท้องไส้ติ่ง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ไส้ติ่งอวัยวะเล็กๆ แต่อันตรายมากหากไส้ติ่งแตก
อาการแบบไหน ถึงจะเป็นอาการปวดท้องไส้ติ่ง
คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวถึง ไส้ติ่ง ว่าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของทางเดินอาหาร ที่อยู่บริเวณท้องด้านล่างขวาติดกับลำไส้ใหญ่ ไม่ได้มีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย แต่หากเกิดการอุดตันแล้วล่ะก็… เรื่องใหญ่ เพราะจะเกิดการอักเสบขึ้นมาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการปวดจากไส้ติ่ง
โดยอาการปวดท้องจากไส้ติ่ง จะปวดท้องมาก เริ่มแรกอาจปวดเป็นพักๆ รอบสะดือคล้ายโรคกระเพาะ หรือท้องเดิน อาจจะเข้าห้องน้ำบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก หรือ บางคนก็อาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย อาการปวดถึงแม้จะกินยาแก้ปวดอะไรก็ไม่หาย ต่อมาอีก 3-4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา ต้องนอนนิ่งๆ หากเคลื่อนไหวตัวจะทำให้ปวดมาก
ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและมีไข้ต่ำๆ บางคนถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น อาการจะเป็นอยู่นับชั่วโมงถึงหลายวัน บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยด้านขวา โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้ จนนำไปสู่ภาวะไส้ติ่งแตกในที่สุด
ควรรีบไปพบแพทย์
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งอาจแตกได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้การเกิดไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรงจากไส้ติ่ง ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็ก คล้ายนิ้วมือติดอยู่กับลำไส้ใหญ่เกิดการบวมและอักเสบ โดยสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบยังไม่แน่ชัด แต่พบว่า ส่วนมากแล้วไส้ติ่งเกิดการอักเสบเมื่อมีเศษอาหาร หรืออุจจาระอุดอยู่ในไส้ติ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้รวดเร็วและแตกได้ง่ายขึ้นด้วย
วิธีการการรักษาไส้ติ่ง
โดยวิธีการการรักษาไส้ติ่งในปัจจุบัน สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผิวหนังเป็นรูเล็กๆ เพื่อสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง โดยรอยแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเห็นภาพที่ชัดเจนผ่านจอภาพ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก แต่การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ความรุนแรง ความเสี่ยง โดยประเมินจากสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโรคที่เกิดในช่องท้องสามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ รวมถึงโรคไส้ติ่งอักเสบด้วย
โดย คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า