มะเร็งปากมดลูก พบได้บ่อยสำหรับมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี อย่างไรก็ดี ยังมีสตรีชาวไทยเสียชีวิตจากมะเร็งของปากมดลูกเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 10 คน เชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธ์เสี่ยงสูง จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีคู่หลายคนๆ และอาจมีการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย
มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายในผู้หญิง
ปัญหา และอาการของมะเร็งปากมดลูก
ผศ.พญ.ดวงมณี ธนัพประภัศร์ ศัลยแพทย์มะเร็งสูตินรีเวช โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้รายละเอียดว่า ปัญหาที่สำคัญของผู้ที่ติดเชื้อ HPV คือ ไม่มีอาการแสดง ดังนั้น จะไม่รู้ตัวและสามารถกระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนอื่นๆ ได้
และอาการแสดงของมะเร็งปากมดลูก ระยะก่อนมะเร็ง หรือระยะเริ่มต้นของโรคนี้ จะไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่ยกเว้นถ้าระยะของโรคมะเร็งเป็นมากพอสมควร อาจมีอาการประจำเดือนผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ (Abnormal vaginal bleeding) การมีระดูขาวที่ผิดปกติมีกลิ่นเหม็น หากกระจายไปยังอวัยวะอื่น อาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดได้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าระยะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งที่เพิ่งเริ่มเป็นอาจจะไม่มีอาการและการรักษาทำได้ มีโอกาสที่จะหายขาดได้
จะรู้ได้อย่างไร ?
วิธีที่จะทราบได้คือ การมารับการตรวจภายใน เพื่อเอาเซลล์จากปากมดลูกมาตรวจที่เรียกกันว่า ตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) และถ้าตรวจร่วมกับการหาเชื้อไวรัส HPV(HPV DNA Test) จะทำให้ได้รับความชัดเจนเพิ่มขึ้น หากผลผิดปกติต้องตรวจด้วยการส่องกล้องขยายดูปากมดลูก (Colposcopic examination) เพื่อค้นหาบริเวณที่ผิดปกติ และจะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติ วางแผนการตรวจเพื่อบอกระยะของโรคและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง
การรักษาระยะเริ่มต้น
สำหรับการรักษาระยะเริ่มต้นอาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Therapeutic conization) การตัดมดลูกพร้อมๆ กับเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออก (Radical hysterectomy with pelvic lymphadenectomy) ผู้ป่วยบางรายต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรังสีรักษา การฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Teletherapy) และการใส่แร่ (Brachy-therapy) บางรายพิจารณารักษาร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Concurrent Chemo-Radiation treatment) การรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียวใช้ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปมากพอควร ซึ่งไม่สามารถให้รังสีรักษาหรือทำการผ่าตัดได้
มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้หากสตรีทุกท่านใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี และสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ก็สามารถลดอัตราเสี่ยงลงได้อย่างน้อย 70 % และถ้าร่วมกับการตรวจ Pap Smear และค้นหา High Risk HPV DNA เป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ จะสามารถป้องกันมะเร็งของปากมดลูกได้