การตรวจเพื่อค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มนั้น สำหรับมะเร็งท่อน้ำดียังไม่มีวิธีใดดีที่สุด แต่สำหรับมะเร็งตับและเซลล์ตับนั้น สามารถเฝ้าระวังโดยการตรวจอัลตราซาวน์ตับ หรือตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับที่เรียกว่า Alpha-fetoprotein (AFP) ทุก 6-12 เดือน ซึ่งมีหลักฐานว่าจะสามารถค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งเมื่อพบว่ามีก้อนผิดปกติในตับแล้ว การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับก็อาจจะตรวจด้วย CT scan หรือ MRI ตับ ในบางรายอาจจำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ อ่านบทความ “รู้จัก สัญญาณเตือนก่อนจะเป็นมะเร็งตับ การดูและป้องกันตนเอง”
การรักษาโรคมะเร็งตับ
การรักษาโรคมะเร็งตับ จำเป็นต้องมีการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญในการรักษามะเร็งตับ (multidisciplinary team) เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
รูปแบบการรักษามะเร็งตับ
มะเร็งตับมีหลายรูปแบบการรักษา เช่น การผ่าตัด แต่เนื่องจากมะเร็งตับมักจะพบในผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรัง หรือมีตับแข็งอยู่ด้วย ฉะนั้นการผ่าตัดตับอาจจะทำได้ในผู้ป่วยประมาณ 20% ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับขนาดไม่ใหญ่แต่มีตับแข็งมาก อาจจะต้องใช้วิธีการเปลี่ยนตับ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนตับนั้นยังไม่ได้รับการแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากยังมีผู้บริจาคตับไม่มาก หรือในกรณีที่มะเร็งตับเป็นก้อนใหญ่หรือมีหลายก้อน ไม่สามารถจะผ่าตัดตับได้ อาจจะใช้วิธีการฉีดยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคลหรือ personalized treatment ใช้ยาพุ่งเป้า (targeted therapy) หลายชนิดเป็นที่ยอมรับว่ารักษาได้ผลดีที่สุด
การรักษามะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ
สำหรับมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ โดยการใช้ยาต้านมะเร็งที่มีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงที่เซลล์มะเร็งที่ตับ มีการวิจัยเพื่อนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น (precision medicine)โดยตรวจหายีนส์จำเพาะมะเร็งตับ เพื่อการรักษาที่แม่นยำ และสามารถใช้ยาภูมิคุ้มกันรักษา Immunotherapyมารักษามะเร็งตับได้ด้วย
การค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้น
เนื่องจากมะเร็งตับระยะเริ่มแรกไม่มีอาการ เมื่อมีอาการแล้วโอกาสการรักษาจึงมีน้อย การคัดกรองหรือเฝ้าระวังมะเร็งตับให้พบในระยะแรกเริ่ม จึงเป็นวิธีที่มีโอกาสหายมากที่สุด การค้นหาให้ได้มะเร็งระยะเริ่มต้น ได้แก่ การรักษาด้วยความร้อน จากคลื่นความถี่วิทยุสูง (RF) หรือคลื่นไมโครเวฟ โดยคลื่นดังกล่าวจะส่งผ่านเข็มเล็กๆ ที่แทงผ่านเข้าไปในก้อนมะเร็งในตับ ซึ่งได้ผลดีในมะเร็งตับที่เล็กกว่า 3 ซม.
กรณีมะเร็งตับที่ก้อนใหญ่หรือมีหลายก้อน
ในมะเร็งตับที่ก้อนใหญ่หรือมีหลายก้อน ไม่สามารถจะผ่าตัดตับได้ อาจจะใช้วิธีการฉีดยาเคมีบำบัด และสารไปอุดตันกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับ ด้วยการสอดท่อเล็กๆ ที่เรียกว่าสายสวน (catheter) ผ่านทางเส้นเลือดที่ขาหนีบหรือที่แขน เข้าไปยังเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตับ ซึ่งเราเรียกว่า TACE (Transarterial Chemoembolization) หรือบางครั้งเรียกว่า TOCE (Transarterial Oil Chemoembolization) ซึ่งวิธีการเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ จะผสมยาเคมีบำบัดกับสารที่เป็นน้ำมันคือ lipiodol สามารถอุดตันหลอดเลือดได้ดีกว่าและอาจจะต้องฉีดเพื่ออุดตันเส้นเลือดหลายครั้ง
เพื่อลดการฉีดหลายๆ ครั้ง แพทย์จะใช้การฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าทางเส้นเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงตับเพื่อเป็นการฉายแสงจากภายในเรียกว่า SIRT (Selective Internal Radiation Therapy) ซึ่งการรักษาชนิดนี้เหมาะกับมะเร็งตับที่มีการลุกลามไปยังหลอดเลือดดำของตับด้วย
การฉายแสงทำลายมะเร็งตับ
ความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งตับอีกหนึ่งวิธี คือ การนำเอาวิธีฉายแสงมาฉายทำลายมะเร็งตับ เครื่องฉายแสงในปัจจุบันนั้นสามารถปรับความเข้มข้นของรังสีและสามารถฉายแสงได้ 3 มิติ หรือ 4 มิติ ทำให้ตับที่ไม่ได้เป็นมะเร็งได้รับอันตรายน้อยลง จึงได้นำการฉายแสงกลับมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับมากขึ้นที่เรียกว่า SBRT (Stereo tactic body radiotherapy)ใช้เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนให้เกิดรังสีเอกซ์ฉายไปที่มะเร็งตับ ทำให้มะเร็งตับตาย นอกจากนี้มีการนำเอาอนุภาคโปรตอนหรือคาร์บอน (Heavy Ion) มาใช้ในการรักษามะเร็งตับ เนื่องจากใช้เวลาในการฉายรังสีเพียงระยะสั้นๆ ด้วยความเข้มข้นสูง
การป้องกันมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี คือ การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และการบริโภคสารก่อมะเร็ง nitrosamine การป้องกันมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับคือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีทางกระแสเลือดหรือเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ คือผู้ที่เป็นพาหะโรคตับอักเสบบี ผู้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังบีและซี ผู้เป็นโรคตับแข็ง ควรได้รับการติดตามโดยทำอัลตราซาวน์และเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP ทุก 6 เดือน
มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ หากมีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และพบในระยะแรกเริ่มเป็นวิธีที่ดี และผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษาหาย ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญหลากหลายสาขาเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ดังเดิม
เนื้อหาโดย ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ แพทย์ศัลยกรรมมะเร็ง และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ