ตับ มะเร็ง มะเร็งตับ

รู้จัก สัญญาณเตือนก่อนจะเป็นมะเร็งตับ การดูและป้องกันตนเอง

Home / สุขภาพทั่วไป / รู้จัก สัญญาณเตือนก่อนจะเป็นมะเร็งตับ การดูและป้องกันตนเอง

โรคมะเร็งตับยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมะเร็งทั้งหมด โดยเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย และพบมากเป็นอันดับสามในเพศหญิง เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 87% หรือในทางกลับกัน มีโอกาสอยู่รอดเพียง 13% เท่านั้น หากมีสัญญาณเตือน น้ำหนักลด ท้องอืด แน่นท้อง ควรรู้เท่าทัน ระวังป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งตับ อ่าน สัญญาณเตือน ก่อนจะเป็นมะเร็งตับ ดังสิ่งที่เราจะทำมาฝากนี้

สัญญาณเตือน ก่อนจะเป็นมะเร็งตับ

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ กล่าวว่า ตับเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่สะสมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งถูกดูดซึมจากลำไส้ และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยสารอาหารนั้น อาจจะถูกเปลี่ยนแปลง (metabolize)จากในตับไปเป็นพลังงาน หรือไปใช้เพื่อซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ

นอกจากนี้ ตับจะหลั่งน้ำดีเข้าไปในลำไส้เพื่อช่วยดูดซึมสารอาหารโดยเฉพาะไขมัน และยังทำหน้าที่สลายแอลกอฮอล์ ยา และของเสียที่เป็นพิษ เพื่อขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระตับประกอบด้วยเซลล์มากมาย ประกอบด้วยเซลล์ตับ (Hepatocyte) เซลล์ของเส้นเลือด และเซลล์ของท่อน้ำดี ซึ่งเซลล์ท่อน้ำดีนี้จะขยายต่อออกมานอกตับ เป็นท่อน้ำดีเพื่อระบายน้ำดีออกไปยังถุงน้ำดีและลำไส้เล็กเซลล์ต่างๆ ที่อยู่ในตับ

เมื่อเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะกลายเป็นเซลล์ของเนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะเจริญเติบโตด้วยตัวมันเองในตับและกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่แตกต่างกันนี้มาจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งที่ต่างกันจึงทำให้วิธีการรักษาและการพยากรณ์โรคแตกต่างกันไป

สัญญาณเตือน ก่อนจะเป็นมะเร็งตับ

มะเร็งตับที่พบบ่อยในไทย-ปัจจัยเสี่ยง

มะเร็งตับประกอบด้วย มะเร็งชนิดที่เกิดขึ้นจากเซลล์ที่อยู่ในตัวของตับเอง ที่พบได้บ่อยในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิดคือ

1) มะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีในตับ (Cholangiocarcinoma)เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุท่อน้ำดีที่อยู่ในตับ สาเหตุมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบได้บ่อยทางภาคอีสาน รวมถึงการรับประทานอาหารบางชนิดที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารดินประสิว (nitrosamine) ที่มีอยู่ในอาหารประเภทหมักและอาหารจำพวกรมควัน เป็นต้น

มะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีนี้ การตรวจค้นหาระยะเริ่มแรกยังไม่มีวิธีการที่ดี และเมื่อเป็นแล้ววิธีการรักษาจะค่อนข้างยุ่งยาก และผลการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ที่ดีที่สุดคือ งดการรับประทานปลาน้ำจืดดิบและอาหารที่มีสารดินประสิวปนเปื้อน

2) มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) มะเร็งตับชนิดนี้พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย สาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดเซลล์ตับคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเลือด การติดจากแม่ไปสู่ลูกในครรภ์ ทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ในเซลล์ตับ ก็สามารถกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง หรือกลายเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ โดยตัวเองไม่มีอาการ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้กลายเป็นมะเร็งตับได้ เช่น ผู้ป่วยตับแข็งที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือจากไขมันพอกตับเป็นเวลานานๆ รวมถึงสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ธัญพืชต่างๆ ซึ่งมาจากเชื้อราที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) โดยสารนี้จะเป็นตัวเสริมให้เป็นมะเร็งเซลล์ตับในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ง่ายขึ้น

การป้องกันตนจากมะเร็งชนิดต่างๆ

การป้องกันมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี คือ การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และการบริโภคสารก่อมะเร็ง nitrosamine , การป้องกันมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ คือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีทางกระแสเลือด หรือเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ คือผู้ที่เป็นพาหะโรคตับอักเสบบี ผู้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังบีและซี ผู้เป็นโรคตับแข็ง ควรได้รับการติดตามโดยทำอัลตราซาวน์และเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP ทุก 6 เดือน

การป้องกันมะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ คือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีทางกระแสเลือดหรือเพศสัมพันธ์จากผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และ มะเร็งตับ ที่เกิดจากมะเร็งชนิดอื่นๆกระจายมายังตับได้ง่าย โดยมะเร็งชนิดนี้จะพบในประเทศแถบตะวันตกมากกว่าประเทศในแถบเอเชีย

มะเร็งตับในระยะแรกนั้นมักไม่แสดงอาการ

มะเร็งตับในระยะแรกนั้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคมะเร็งโตมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด หรือมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงด้านขวา จุกเสียดแน่นท้อง อาจจะปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา เมื่อมะเร็งทำลายหน้าที่ของตับมากขึ้นหรือเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ผู้ป่วยก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม อาจจะมีอาการท้องบวม ขาบวม บางรายก็จะมีไข้ต่ำๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อมะเร็งเป็นมากแล้ว สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น กระดูก

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ แพทย์ศัลยกรรมมะเร็ง

เนื้อหาโดย ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ แพทย์ศัลยกรรมมะเร็ง และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ

บทความแนะนำ